โรคจิตเภท (Schizophrenia) คือ

โรคจิตเภท (Schizophrenia) คือ

มีรายงานว่าใน 100 คน มักจะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภท 1 คน นั่นแสดงว่าปัจจุบันนี้โรคจิตเภทสามารถพบได้

ร้อยละ 1 ของจำนวนประชากร เป็นแล้วหายไหม? อะไรคือสาเหตุของโรค? มาทำความรู้จักและเข้าใจโรคจิตเภทให้มากขึ้นกันดีกว่า 

โรคจิตเภท คืออะไร

โรคจิตเภท หรือ Schizophrenia เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติของสมองแล้วส่งผลให้บุคลิกภาพด้านความคิดและการรับรู้ของผู้ป่วยเปลี่ยนไปไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือคิดว่าจะมีคนมาทำร้าย เป็นต้น ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โรคจิตเภทจึงเป็นภาวะความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ทำให้แตกต่างจากบุคคลทั่วไป พบได้ทุกช่วงวัยแต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยรุ่น อายุ14-16 ปี ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

สาเหตุของโรคจิตเภท

ยังไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัดถึงสาเหตุของโรค แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีปัจจัยเสี่ยงมาจาก

  • กรรมพันธุ์ เพราะหากสมาชิกในครอบครัว (สายเลือดใกล้ชิด) มีประวัติความผิดปกติของสมอง ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีในสมองหรือโครงสร้างบางส่วนของสมองผิดปกติก็ตาม ล้วนแล้วแต่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคจิตเภทได้ทั้งสิ้น
  • สารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ อันเนื่องจากสภาพร่างกายของผู้ป่วยเอง หรือสารเคมีที่ผู้ป่วยได้รับ เช่น สารเสพติด หรือยารักษาโรค 
  • สภาวะทางด้านจิตใจ และพื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัว โดยเฉพาะความเครียดซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงอาการ รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยท่าทีไม่เป็นมิตร เช่น ตำหนิ ใช้อารมณ์ จู้จี้ขี้บ่น ต่างส่งผลให้โรคกำเริบได้ทั้งสิ้น

อาการของโรคจิตเภท

อาการเริ่มต้นของโรคจิตเภทมีทั้งแบบเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งกรณีนี้อาการจะเริ่มต้นขึ้นอย่างช้า ๆ ใช้เวลาประมาณหกเดือน โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกสับสนและไม่อยู่ในความเป็นจริง จนเมื่ออาการเพิ่มมากขึ้นจึงจะสัมผัสได้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น 

ลักษณะอาการของโรคจิตเภทแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มอาการที่มากกว่าคนปกติทั่วไป (กลุ่มอาการแบบบวก) มักจะพบในระยะที่อาการกำเริบ ได้แก่ 

  • อาการหลงเชื่อที่ผิดไปจากความเป็นจริง และไม่ได้เป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมของผู้ป่วย เช่น หวาดระแวงว่าคนอื่นจะมาทำร้าย คิดไปว่าตนเองมีพลังพิเศษหรือสามารถส่งกระแสจิตได้ ถูกบังคับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากต่างดาว กลัวว่าจะถูกวางยา เป็นต้น 
  • ม่สามารถคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างต่อเนื่องได้ จึงมีรูปแบบความคิดผิดจากคนทั่วไป และมักพูดคุยกับผู้อื่นไม่เข้าใจเพราะพูดไม่ต่อเนื่องเป็นเรื่องราว ใช้ภาษาแปลก ๆ ตอบไม่ตรงคำถาม หรือเปลี่ยนเรื่องคุยโดยไม่มีเหตุผล
  • ประสาทหลอนคิดไปเองว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้น เช่น เห็นภาพหลอน มองเห็นวิญญาณหรือคนที่ตายไปแล้ว หูแว่วได้ยินเสียงคนมาชวนพูดคุย มาเตือน มาตำหนิ หรือสั่งให้ทำโน่นนี่ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีใคร 
  • มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ชอบทำท่าแปลก ๆ ซ้ำ ๆ หัวเราะสลับกับร้องไห้เป็นพัก ๆ เดินไปมาแบบไม่มีเหตุผล หรือทำร้ายผู้อื่น 

2.กลุ่มอาการที่ขาดหรือพร่องจากคนปกติทั่วไป (กลุ่มอาการแบบลบ) ได้แก่

  • ซึม เก็บตัว แยกตนเองออกจากสังคม ไม่สุงสิงกับใคร ไม่อยากพบปะผู้คน
  • ไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน ไม่ดูแลตนเอง ไม่ใส่ใจในสุขอนามัย และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
  • เฉื่อยชา ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถนั่งเฉย ๆ ได้ทั้งวัน จึงทำให้ประสิทธิภาพและความรับผิดชอบต่อการเรียนหรือการทำงานลดลง
  • การแสดงออกทางอารมณ์ลดลง สีหน้าและแววตาเฉยเมย ไม่ยินดียินร้าย หมดความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
  • พูดน้อย ตอบโต้ช้า พูดจาไม่รู้เรื่องหรือไม่ปะติดปะต่อ

ทั้งนี้อาการของโรคจิตเภท ยังแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะเริ่มต้น หรือระยะก่อโรค ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีกลุ่มอาการด้านลบ เช่น แยกตัว เฉื่อยชา ไม่อยากจะทำอะไร
  • ระยะอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะแสดงกลุ่มอาการแบบบวกมากขึ้น จึงพบความผิดปกติได้อย่างเด่นชัด ซึ่งควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • ระยะหลงเหลือ หลังจากที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว บางรายอาจมีอาการหลงเหลืออยู่บ้างแต่จะไม่รุนแรง เช่น จากความระแวงลดลงมาเหลือแค่ความสงสัย ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาจนหายสนิทก็จะไม่ปรากฏอาการในช่วงนี้

การรักษาโรคจิตเภท 

1.รักษาด้วยยาฉีดหรือยากิน ภายใต้การดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมองให้กลับมาสมดุลเหมือนเดิม

2.ปรับพฤติกรรมและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการรักษาโดยไม่ใช้ยา แต่จะเน้นเรื่องจิตบำบัดด้วยวิธีการพูดคุยระหว่างผู้ป่วยกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจในตนเองและโรคที่เป็นอยู่มากขึ้น รู้จักการรับมือกับความเครียด และสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดคือเรื่องจริง

3.ครอบครัวบำบัด เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเพื่อให้คนรอบข้างสามารถรับมือและดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกวิธีโดยไม่สร้างแรงกดดันหรือเพิ่มความเครียดให้แก่ผู้ป่วย

4.กลุ่มบำบัด เป็นการรักษาแบบกลุ่มเพื่อเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยเฉพาะช่วงที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคม

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทถูกสังคมตัดสินในแง่ลบจนส่งผลกระทบต่ออาการของโรค ดังนั้นความรู้และความเข้าใจในโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะช่วยให้เกิดการเห็นอกเห็นใจ อดทน ให้อภัย ให้กำลังใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุขมากขึ้น