โรคอาการย้ำคิดย้ำทำ

โรคอาการย้ำคิดย้ำทำ

ไม่แปลกที่คนเราจะมีความกังวลกับหลายสิ่งหลายอย่างทำให้ต้องคิดซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว

หรือยัง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น ปิดแก๊ส ปิดไฟ ล็อคประตู บางครั้งออกจากบ้านไปแล้วยังต้องวนรถกลับมาเพื่อเช็คอีกรอบว่าลืมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะกังวลไปตลอดทาง แต่ความกังวลเหล่านั้น ถ้ามากเกินไปจนขาดสติ ไม่มีสมาธิ หรือคิดวนเวียนจนหยุดไม่ได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเสียแล้ว เพราะนั่นอาจหมายถึงอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำที่ต้องพบแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษา

  • อาการย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคชนิดหนึ่งใช่หรือไม่

ย้ำคิดย้ำทำเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง อาการดังกล่าวหากว่าใครเป็นอยู่แต่ไม่ได้บ่อยก็ไม่ต้องกังวลอะไร ถือเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะหลงยืมและทำอะไรซ้ำในบางครั้ง แต่บางคนเป็นบ่อยมากจนส่งผลกระทำต่อการใช้ชีวิต ถึงขนาดหยุดคิดไม่ได้ และหยุดทำซ้ำ ๆ ไม่ได้ เครียดจนไม่เป็นอันทำงาน ถือว่าเป็นโรคที่ต้องรับการรักษา และถ้าใครเคยได้ยินชื่อโรค OCD นั่นคือโรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นชื่อที่ย่อมาจากคำว่า Obsessive Compulsive Disorder ความหมายก็คือ

  • Obsession การย้ำคิด คิดในสิ่งเดิม ๆ ว่าต้องทำ บางครั้งคิดวนไปวนมาว่าทำหรือยัง แม้กระทั่งทำไปแล้วก็คิดว่ายังไม่ได้ทำ
  • Compulsion การย้ำทำ เป็นอาการตอบสนองต่อความคิดของตัวเองที่คิดว่าต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือยังไม่ได้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็เลยทำซ้ำอีก
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ ความกังวลที่หยุดไม่ได้

โรคนี้ยังมีอาการอื่นที่แปลกออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น บางคนกลัวความสกปรก กลัวเชื้อโรค ต้องใส่แมสก์ สวมถุงมือ ถุงเท้าตลอดเวลา บางคนกังวลเรื่องของรกก็จะมีอาการย้ำคิดย้ำทำอยู่กับการจัดของ จัดระเบียบตลอดวัน ไม่ยอมให้สิ่งใดขยับเขยื้อน เป็นต้น

  • โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ อาจเกิดได้จากความผิดปกติทางสมอง ระบบประสาท และเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างหนึ่งที่อาจถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษได้ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำยังอาจมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมในเชิงลบของตัวผู้ป่วยเองที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติภายในสมองและกระทบต่อจิตใจ

  • อาการย้ำคิดย้ำทำ บำบัดได้

ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ด้วยอาการย้ำคิดย้ำทำอาจได้รับยาเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นยาในกลุ่มต้านซึมเศร้า หรือยาทางจิตเวชควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิต โดยการฝึกให้ผู้ป่วยจัดการกับความกังวลของตนเอง เช่น กังวลเรื่องความสกปรก ก็สร้างสถานการณ์ให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งสกปรกและอดทนต่อความต้องการทำความสะอาดซ้ำ ๆ ของตนเอง เป็นต้น

สำหรับผู้ที่มีอาการไม่มากหรือรู้ตัวว่าเริ่มมีอาการย้ำคิดย้ำทำ สามารถควบคุมอาการได้ด้วยตัวเองตามวิธีต่อไปนี้ 

  • ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง จะส่งผลต่อจิตใจที่แข็งแรงตามไปด้วย
  • หาโอกาสพบปะผู้คน พูดคุยสังสรรค์กับเพื่อนอยู่เสมอเพื่อให้จิตใจผ่อนคลาย
  • Relax พักผ่อนยามว่างด้วยการดูหนัง ฟังเพลง หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ

ส่วนผู้ที่รักษาด้วยยา ให้รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด อย่าหยุดยาเอง และไปพบแพทย์เป็นระยะเพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง