โรคแพนิค

โรคแพนิค

ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่าแพนิคหรือโรคแพนิคอยู่บ่อยครั้ง เคยสงสัยกันไหมว่าโรคแพนิคเกิดจากอะไร

อันตรายมากน้อยแค่ไหน มาทำความรู้จักกับอาการแพนิค โรคแห่งยุคสมัย ซึ่งเป็นอาการป่วยไข้ใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

โรคแพนิค คืออะไร ?

โรคแพนิค (panic disorder) หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งซึ่งเกิดภาวะตื่นตระหนก วิตกกังวล รู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลทั้งที่ไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย ด้วยเหตุนี้แพนิคจึงต่างจากอาการหวาดกลัวหรือวิตกกังวลทั่วไป 

โรคแพนิคเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายระบบ ดังนั้นเมื่อตกอยู่ในภาวะของโรคจึงปรากฏอาการได้หลายอย่างร่วมกัน 

อาการของโรคแพนิค

  • ใจสั่น ใจหายวาบ อึดอัด เจ็บหรือแน่นหน้าอก 
  • หัวใจเต้นแรง หายใจหอบถี่ รู้สึกเหมือนหายใจตื้นหรือหายใจไม่อิ่ม 
  • เหงื่อออกมาก เหงื่อแตก หนาว ๆ ร้อน ๆ 
  • ตัวสั่น มือสั่น เท้าสั่น
  • ท้องไส้ปั่นป่วน ปากแห้ง จุกแน่นในลำคอ 
  • วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
  • หวาดกลัว รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง
  • ชาตามร่างกาย ควบคุมตัวเองไม่ได้

อาการต่าง ๆ ข้างต้นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งยังคาดเดาได้ยากเนื่องจากเกิดขึ้นแบบ เฉียบพลันโดยไม่ปรากฏสาเหตุและไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้น หากเมื่อเริ่มปรากฏอาการแล้วจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนแสดงอาการเต็มที่ และสงบลงในเวลาประมาณ 10-20 นาที (บางรายอาจนานกว่านี้แต่ก็จะไม่เกินหนึ่งชั่วโมง) หลังจากอาการสงบลงผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง 

แม้ว่าโรคแพนิคไม่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกทรมานจากอาการของโรค เกิดความวิตกกังวลตลอดเวลา ไม่กล้าใช้ชีวิตตามลำพัง และกลัวที่จะทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ไม่กล้านอนคนเดียว ไม่กล้านอนในที่มืด กลัวการข้ามสะพานลอย กลัวการขึ้นลิฟต์ หรือกลัวการขับรถ เป็นต้น อาการแพนิคสามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำ ๆ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวและตื่นตระหนกจนไม่กล้าออกไปไหน ส่งผลให้ไม่มีความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวัน

สาเหตุของโรคแพนิค

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคแพนิค อาทิ

  • สมองส่วนควบคุมความกลัวหรือ amygdala ทำงานผิดปกติ
  • ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติจนส่งผลให้สารเคมีในสมองเสียสมดุล
  • การใช้สารเสพติด
  • กรรมพันธุ์ มีแนวโน้มเป็นโรคแพนิคได้สูงหากมีประวัติว่าสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคแพนิคหรือโรควิตกกังวล
  • เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ต้องเผชิญกับความกดดัน ความเครียด ความวิตกกังวล ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งไม่ค่อยออกกำลังกาย พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเครียดสะสมจนนำไปสู่โรคแพนิคได้
  • มีประสบการณ์หรือเคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นในวัยเด็ก มักจะมีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่าวัยอื่น เช่น เคยถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทอดทิ้ง โดนข่มขืน ผิดหวังอย่างรุนแรง หรือเกิดการสูญเสียครั้งสำคัญ เป็นต้น

แม้โรคแพนิคไม่อันตรายแต่ก็ควรรักษา โดยแพทย์จะให้ยาควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิตใจ ส่วนตัวผู้ป่วยเองก็ควรรู้จักวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้น เช่น ฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ โดยหากเกิดอาการให้หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ พร้อมบอกตัวเองว่าเดี๋ยวก็หาย การฝึกหายใจยังช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ด้วย ฝึกมองโลกในแง่บวก เพิ่มความสุขความสบายใจด้วยการเลือกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้สมดุลทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตให้ช้าลง ลดเวลาการใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ลดหรือเลี่ยงคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากไปกระตุ้นให้เกิดอาการใจสั่นหวิวมากขึ้น และควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรซื้อยาทานเองเด็ดขาด อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคแพนิคนั่นคือกำลังใจและความเข้าใจจากครอบครัวรวมทั้งคนใกล้ชิด