เรื่องอันตราย ถ้าร่างกายหลับไม่ลึกพอ

เรื่องอันตราย ถ้าร่างกายหลับไม่ลึกพอ

การนอนหลับ ในทางการแพทย์นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพร่างกายที่ดี

การนอนน้อยหรือการขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ ก่อให้เกิดโรคตามมาหลายโรค การนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพแบ่งออกได้ 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มหลับ ระยะช่วงเคลิ้ม ระยะหลับลึก และระยะหลับฝัน ซึ่งทั้ง 4 ระยะนี้จะมีความสำคัญต่อร่างกายและการพัฒนาสมองที่แตกต่างกัน ซึ่งวันนี้จะขอเน้นการให้ข้อมูลการนอนหลับในระยะที่ 3 คือระยะหลับลึก พร้อมข้อระวังหากร่างกายหลับลึกไม่พอ

อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายหลับไม่ลึกพอ

  • อ่อนเพลีย
  • ขาดความกระปรี้กระเปร่า พลังงานน้อย
  • ง่วงนอนในช่วงเวลาระหว่างวัน
  • ขาดสมาธิ
  • อารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย

ถ้าหลับไม่ลึกพอ ส่งผลเสียกับร่างกายอย่างไร

  • ส่งผลต่อการทำงานของสมองด้านความจำและการเรียนรู้

การหลับลึกส่งผลต่อคลื่นภายในสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และเรื่องความจำ ในช่วงเวลาที่หลับลึก สมองส่วนที่เป็นฮิปโปแคมปัสซึ่งทำหน้าที่ในการถ่ายโอนข้อมูลที่ได้เรียนรู้ในส่วนของความจำระยะสั้นเข้าสู่ความทรงจำระยะยาว หากร่างกายมีชั่วโมงการนอนหลับลึกน้อย หรือไม่มีระยะของการนอนหลับลึกเลย มีผลให้การทำงานในด้านการเรียนรู้และความจำไม่ดี หลงลืมอะไรได้ง่าย

  • ร่างกายสะสมไขมันมากขึ้น

เมื่อเรานอนน้อย ร่างกายจะผลิตสารที่ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหารน้อยลง ทำให้เราอยากอาหารมากขึ้น ซึ่งสารที่ว่านั้นคือ Leptin (สารเลปติน) ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ทำให้ร่างกายรู้สึกหิวบ่อยและอยากอาหารในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการควบคุมน้ำหนักและสะสมไขมันในร่างกายมากเกินไปจนเป็นสาเหตุของภาวะความอ้วนได้

  • ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของระบบเผาผลาญ

การนอนน้อยหรือการหลับไม่ลึก ส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลในการเผาผลาญพลังงาน ทำให้เกิดความแปรปรวนในการย่อยเนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น หากร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เซลล์แก่เร็วขึ้น และการนอนน้อยหรือนอนดึกเกินไปก็ส่งผลโดยตรงต่อร่างกายในการผลิตโกรทฮอร์โมน ทำให้เซลล์ที่เสื่อมสภาพไม่ได้รับการซ่อมแซม ผิวพรรณก็จะหย่อนคล้อย ทำให้ร่างกายทรุดโทรมและแก่ไวนั่นเอง

  • ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การพักผ่อนน้อยหรือการนอนหลับไม่ลึก ทำให้ T cell ที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรค โดยการไปดักจับกินเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกาย มีปริมาณน้อย ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อผลิต T cell หากร่างกายพักผ่อนน้อย T cell ต้องใช้เวลาในการหาตำแหน่งของเชื้อโรคมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยตรง ภูมิคุ้มกันตก ท้ายที่สุดก็จะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยง่าย

วิธีการช่วยให้นอนหลับลึก

  • เข้านอนเป็นเวลา และตื่นให้เช้า
  • นอนก่อน 4 ทุ่มเพื่อให้ร่างกายมีเวลานอนหลับได้นานขึ้น
  • สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมในการนอน เช่น ปรับอุณหภูมิให้พอดี ไม่มีเสียงรบกวนเวลานอน
  • ผ่อนคลายและปล่อยวางเรื่องที่ทำให้เครียดกังวลก่อนเข้านอน
  • หากนอนไม่หลับอย่าฝืนนอนต่อ ให้ลุกมาทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงบรรเลง หรือนั่งสมาธิ เป็นต้น ควรเลี่ยงการเล่นสมาร์ทโฟน หรือเปิดดูโทรทัศน์ เพราะแสงจากหน้าจอจะทำให้หลับยาก

มาถึงตรงนี้คงทราบกันแล้วว่าการนอนหลับให้ลึกนั้น ส่งผลต่อร่างกายมากมายเพียงใด ดังนั้นการจะนอนหลับให้ลึก ต้องเริ่มจากการนอนที่ดีและมีคุณภาพก่อน เริ่มดูแลเอาใจใส่เรื่องการนอนตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง