เมื่อมีความคิด อยากฆ่าตัวตาย

เมื่อมีความคิด อยากฆ่าตัวตาย

ข่าวการฆ่าตัวตายมีให้เห็นบ่อยขึ้น ทำไมคนเราทุกวันนี้จึงมีความคิดฆ่าตัวตาย สาเหตุที่สำคัญมากจากอะไร

บ้าง และจะมีวิธีการป้องกันเหตุสะเทือนขวัญนี้ไม่ให้เกิดเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

คนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอาจเริ่มมาจากหลายสาเหตุ เช่น

  • การเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ หรือความสูญเสียและไม่สามารถรับมือได้ 
  • เกิดความเครียด  ท้อแท้ รู้สึกไร้ค่า 
  • การสะสมความเครียด และความรู้สึกด้านลบมาก ๆ เข้าจะนำไปสู่โรคซึมเศร้า 
  • คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกที่รุนแรงมาก อาจถึงขึ้นอยากฆ่าตัวตาย

แก้ต้นเหตุของการฆ่าตัวตายด้วยการรักษาโรคซึมเศร้า

ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายขึ้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การรักษาโรคซึมเศร้าเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยยับยั้งการสูญเสียนี้ได้ ซึ่งในปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เพราะในทางการแพทย์มีการศึกษาถึงความผิดปกติของอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยซึมเศร้าพบว่าอาการซึมเศร้าเกิดจากสารสื่อประสาทไม่สมดุลส่งผลต่ออารมณ์ และได้คิดค้นยาที่ช่วยปรับระบบการทำงานของสารนั้นให้เป็นปกติ 

ที่ผ่านมาการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าใช้ยาร่วมกับการบำบัดทางจิตเวชและสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้น วิธีที่จะช่วยเยียวยาจิตใจเพื่อไม่ให้นำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตายคือตัดไฟแต่ต้นลม หากใครที่เริ่มมีอาการซึมเศร้า ให้รีบพบจิตแพทย์โดยเร็ว 

ป้องกันเหตุสะเทือนขวัญ สิ่งที่คนรอบข้างต้องใส่ใจ

ความคิดฆ่าตัวตายอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ สำหรับปัญหาที่เกิดกับวัยรุ่นนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ การที่คนเราคิดฆ่าตัวตายนั้นจะมีสัญญาณหลายอย่างบ่งบอกให้รู้ได้ สัญญาณเหล่านี้อาจแฝงอยู่ในคำพูด พฤติกรรม 

  • สำหรับวัยรุ่น สัญญาณที่ผู้ใกล้ชิดไม่ควรละเลย คือ
  • การแยกตัวออกจากคนในครอบครัว เพื่อน
  • ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ
  • ขาดสมาธิ ไม่โฟกัสในสิ่งที่ทำ พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง อาจเป็นเพราะกำลังสับสน
  • พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แม้กระทั่งการกินการนอนในชีวิตประจำวัน
  • เขียน หรือพูดเกี่ยวกับความตาย การพลัดพราก หรือความสูญเสีย
  • มีพฤติกรรมทำกิจกรรมสุ่มเสี่ยง และเป็นอันตราย
  • วัยผู้ใหญ่ที่เริ่มเป็นโรคซึมเศร้าและกำลังจะเข้าสู่ห้วงความคิดฆ่าตัวตาย จะมีสัญญาณบ่งบอกคือ
  • บ่นว่าเบื่อหน่าย ท้อแท้
  • การตัดพ้อ หรือมีคำพูดที่บ่งบอกถึงความหมดหวัง 
  • ระบายความรู้สึกสำนึกผิด
  • พูดเป็นนัยว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่
  • มีคำพูดฝากฝังครอบครัว ภรรยา ลูกกับคนอื่น
  • ทำพินัยกรรมในเวลาที่ยังไม่สมควร
  • พูดเกริ่นเรื่องความตาย หรือ การฆ่าตัวตาย

อาการที่คนที่คิดฆ่าตัวตายไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เป็นเหมือนกันก็คือ มีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับพฤติกรรมฉุนเฉียวง่าย  โมโหบ่อย หงุดหงิด อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ เชื่องช้า อาการเหล่านี้จะทวีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าคนรอบข้างควรจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ 

คนรอบข้างช่วยได้อย่างไรบ้าง

หากสังเกตเห็นอาการที่กล่าวมา คนใกล้ชิดไม่ควรมองข้ามแต่ต้องหันมาพูดคุย รับฟังความรู้สึกของผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างเปิดใจ และคอยให้กำลังใจที่ดี และอาจจะต้องโน้มน้าวพาไปพบจิตแพทย์ หรืออาศัยคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ ครูที่สามารถใช้จิตวิทยาในการพูดคุยเข้ามาช่วยเหลือด้วยอีกแรง ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปสู่เหตุสะเทือนขวัญที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น