เราควรดูแลรูหูและวิธีทำความสะอาดอย่างไรให้ถูกต้อง?

เราควรดูแลรูหูและวิธีทำความสะอาษอย่างไรให้ถูกต้อง?

รู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อเอาคอตตอนบัดมาปั่นและทำความสะอาดภายในช่องหู คงจะรู้สึกดีใช่ไหม? แต่รู้หรือไม่ว่าการทำอย่างนั้นยิ่งทำให้สิ่งสกปรกภายในรูหูและขี้หูถูกดันเข้าไปสะสมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม 

ปกติแล้วขี้หู ถือเป็นสารที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นภายในช่องหูและดักจับสิ่งสกปรกมิให้เข้าไปในรูหูได้  ซึ่งกลไกตามธรรมชาติของหูจะสามารถขับขี้หูออกมาอยู่แล้วหากพบว่ามีอาการหูอื้อหรือมีปัญหาอุดตัน ควรเข้ารับการรักษาหรือปรึกษาแพทย์ แต่สำหรับใครที่ต้องการทำความสะอาดรูหูอย่างปลอดภัยและถูกวิธีทางเราก็มีวิธีมาแนะนำดังนี้

  • ใช้คอตตอนบัดเฉพาะภายนอกเท่านั้น

ในการทำความสะอาดหูหลังอาบน้ำ จริง ๆ แล้วควรใช้เพียงแค่ผ้าเช็ดใบหูเท่านั้น แต่ถ้าต้องการใช้คอตตอนบัดก็ควรใช้เพียงบริเวณภายนอกเท่านั้น ไม่ควรแหย่เข้าไปในรูหูหรือเต็มที่เพียงแค่เช็ดขอบด้านนอก เพราะไม่อย่างนั้นอาจทำให้ขี้หูถูกดันเข้าไปในรูหูได้

  • ใช้ยาหยอดหูเพื่อทำให้ขี้หูนิ่ม

หากต้องการทำความสะอาดภายในรูหูแนะนำให้ใช้ยาหยอดหู แต่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เพื่อความปลอดภัย โดยยาหยอดหูที่สามารถนำมาใช้งานเพื่อทำให้ขี้หูนิ่มประกอบไปด้วย

  • น้ำเกลือ
  • เบบี้ออยล์
  • เพอออกไซด์
  • น้ำมันแร่

สำหรับวิธีทำความสะอาดหูด้วยยาหยอดหูข้างต้น ให้ใช้สำลีชุบน้ำยาดังกล่าว แล้วนอนตะแคงข้าง จากนั้นบีบน้ำยาที่ชุบด้วยสำลีใส่ในรูหู 2-3 หยด อยู่นิ่ง ๆ ประมาณ 3-5 นาที เปลี่ยนท่านอนให้ตะแคงข้างที่หยอดยาลง เพื่อให้น้ำยาที่หยอดไหลออกมา ห้ามเอาคอตตอนบัดแหย่เพื่อเข้าไปเช็ดภายในรูหูเด็ดขาด แต่ควรเช็ดและทำความสะอาดภายนอกเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย

การดูแลรักษาหูและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ควรทำ

หูเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้สำหรับฟังเพื่อให้สามารถเข้าใจและสื่อสารกับผู้อื่นได้ ดังนั้นเราจึงควรดูแลรักษาหูให้ดีและถูกต้อง โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเป็นภัยอันตรายได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงเสียงที่ดังมาก ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น เสียงปืน เสียงระเบิด เพราะอาจเป็นอันตรายแบบเฉียบพลัน ทำให้หูดับและไม่ได้ยินได้ 
  • หลีกเลี่ยงเสียงดังมาก ๆ ในระยะเวลานาน ๆ หรือต่อเนื่องในทุก ๆ วัน เช่น โรงมหรสพต่าง ๆ โรงงานอุตสาหกรรม การใช้เครื่องมือที่มีเสียงดังมาก ๆ ติดต่อกันโดยที่ไม่มีเครื่องป้องกัน เช่น เลื่อยยนต์, เครื่องขัด, เครื่องสีข้าว เป็นต้น เพราะอาจทำให้การรับรู้ของหูค่อย ๆ เสื่อมลงและกลายเป็นคนหูหนวกในระยะยาวได้ 
  • หลีกเลี่ยงการแหย่หู ปั่นหูหรือแคะหู เพราะอาจทำให้เกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อจนทำให้หูมีอาการปวด บวมและมีน้ำหนองไหลออกมาได้ หรือแย่ที่สุดอาจถึงขั้นแก้วหูทะลุได้ 
  • พยายามไม่ให้น้ำเข้าหู โดยเฉพาะคนที่มีประวัติหูชั้นนอกอักเสบบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ถ้าน้ำเข้าหูไปแล้วก็ควรเอาออกด้วยการตะแคงหูข้างที่น้ำเข้าลง พร้อมดึงใบหูให้กางออกและโยกให้น้ำออก โดยห้ามใช้คอตตอนบัดในการซับน้ำ
  • เมื่อไม่สบาย เป็นหวัด ห้ามสั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อภายในบริเวณหูชั้นกลางหรือเกิดการอักเสบได้

เป็นอย่างไรกันบ้าง เกี่ยวกับวิธีดูแลรักษาหูและหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อหูของเรา หวังว่าจะเป็นประโยชน์และนำวิธีการดังกล่าวไปใช้เพื่อให้หูสามารถใช้งานได้ปกติ สะอาดและปลอดภัย