คนท้องอดอาหารได้ไหม มีผลต่อลูกหรือเปล่า มีงานวิจัย

คนท้องอดอาหารได้ไหม มีผลต่อลูกหรือเปล่า มีงานวิจัย

ปัญหาอย่างหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ต้องเผชิญคือ อาการแพ้ท้อง อาเจียนอย่างหนัก ไม่ว่าจะทานอาหาร

อะไรก็อาเจียนออกมาจนหมด คุณแม่จึงเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียมากช่วงแพ้ท้อง ซึ่งนี่เป็นสาเหตุทำให้คุณแม่บางคนเลือกที่จะไม่ทานอาหาร เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้อาการแพ้ท้องลดลง ทานอาหารแล้วไม่อาเจียน แต่คุณแม่ทราบหรือไม่ว่าการอดอาหารไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการลดอาการแพ้ท้อง อีกทั้งยังนำมาซึ่งผลเสียต่อลูกน้อย ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เคยศึกษาแล้วว่าส่งผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์ได้จริง

งานวิจัยคุณแม่ตั้งครรภ์อดอาหารส่งผลเสียต่อลูกน้อยอย่างไร

  • วิธีทำการวิจัย

นักวิจัยเริ่มต้นทำการวิจัยด้วยการทดลองกับลิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงแรก โดยแบ่งลิงตั้งครรภ์ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ลิงตั้งครรภ์ที่ให้ทานอาหารทุกอย่างโดยไม่จำกัดปริมาณ และกลุ่มที่ 2 ลิงที่ถูกจำกัดปริมาณอาหารให้ทานอาหารได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน โดยเป็นอาหารที่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ในช่วงแรก

  • ผลการวิจัย

หลังจากเสร็จสิ้นช่วงเวลาจำกัดอาหารพบว่า ลูกลิงในครรภ์ของแม่ลิงกลุ่มที่ 2 หรือแม่ลิงที่ถูกจำกัดปริมาณอาหารนั้นมีพัฒนาการทางร่างกายลดลงกว่าลูกลิงในครรภ์ของแม่ลิงกลุ่มที่ 1 รวมถึงการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาท การแบ่งเซลล์ ที่ทำได้ไม่ดีเท่าลูกลิงกลุ่มที่ 1 นั่นทำให้พบว่าการจำกัดอาหารหรือการอดอาหารของแม่ลิงตั้งครรภ์ส่งผลโดยตรงกับลูกลิงในครรภ์ทั้งด้านการแบ่งเซลล์และพัฒนาการด้านต่าง ๆ 

งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เห็นว่าการที่คุณแม่อดอาหารย่อมส่งผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเพราะอาเจียนหนัก ยุ่งจากการทำงาน หรือเพราะต้องการควบคุมน้ำหนัก คุณแม่ไม่ควรอดอาหารเด็ดขาด นอกจากการอดอาหารแล้ว การทานอาหารไม่ตรงเวลาก็สามารถส่งผลเสียต่อลูกน้อยได้เช่นกัน

คุณแม่ตั้งครรภ์ควบคุมน้ำหนักอย่างไรไม่ให้อ้วน

นอกจากพฤติกรรมการอดอาหารเกิดขึ้นเพราะการอาเจียนบ่อย ๆ แล้ว คุณแม่บางคนอาจกลัวอ้วนหรือต้องการคุมน้ำหนักเพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญโรคเบาหวานและภาวะน้ำหนักเกินในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งการควบคุมน้ำหนักสามารถทำได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • ทานมังสวิรัติเพื่อทดแทนโปรตีนจากสัตว์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่อาจมีปัญหาระบบเผาผลาญไม่ดี การทานโปรตีนจากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์สามารถช่วยควบคุมน้ำหนักได้
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินช้า ๆ การเล่นโยคะ ฯลฯ โดยการออกกำลังกายจะช่วยให้คุณแม่แข็งแรงขึ้น กระตุ้นระบบเผาผลาญ ควบคุมน้ำหนักตัว แต่เพื่อความปลอดภัยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ 
  • พบแพทย์เสมอเพื่อให้แพทย์ติดตามน้ำหนักอย่างใกล้ชิดรวมถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์และไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน

นอกจากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรอดอาหารและควรทานอาหารให้ตรงเวลาแล้ว คุณแม่ยังต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ เพราะสารอาหารที่คุณแม่ทานจะส่งผ่านไปยังลูกน้อย หากคุณแม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนแน่นอนว่าลูกน้อยในครรภ์จะได้สารอาหารครบถ้วนตามไปด้วย โดยสารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ แคลเซียม โปรตีน ธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินต่าง ๆ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันและต่อเติมเซลล์ต่าง ๆ ของลูกน้อย ทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี เมื่อลืมตาดูโลกสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์