กินเค็มมากไป ไม่ได้เป็นแค่ โรคไต จริงหรือไม่

กินเค็มมากไป ไม่ได้เป็นแค่ โรคไต จริงหรือไม่

เกลือมีบทบาทสำคัญในการประกอบอาหาร เพราะมีส่วนช่วยในการเพิ่มรสชาติ อีกทั้งช่วยสร้างสมดุลของ

รสชาติในอาหารทั้งเค็ม, เปรี้ยว, หวานและขม นอกจากนี้ เกลือยังมีบทบาทในการปรับสมดุลของน้ำในร่างกายและรักษาความสมดุลกรด-ด่างอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การบริโภคเกลือควรบริโภคแต่น้อย ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรบริโภคเกลือมากเกินความจำเป็น เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่างนอกเหนือจากโรคไต

การบริโภคเกลือในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อระบบไต โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง เพราะหากได้เป็นแล้วผู้ป่วยจะต้องคอยฟอกไตอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสาเหตุเดียวที่ส่งผลต่อการเกิดโรคไต การบริโภคเกลือมากเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนาโรคไตเรื้อรังหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพส่วนอื่น ๆ ด้วย ดังต่อไปนี้ 

  1. ความดันโลหิตสูง การบริโภคเกลือมากเกินไปมีความเสี่ยงสูงที่จะไปเพิ่มอัตราความดันของเลือด จนทำให้เกิดภาวะโรคความดันโลหิตสูง จนนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมาก เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง
  2. ภาวะบวมน้ำ การบริโภคเกลือมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายกักเก็บของเหลวไว้มาก จนนำไปสู่อาการท้องอืด บวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติอย่างรวดเร็ว เพราะโซเดียมที่อยู่ในเกลือจะไปกดดันระบบไหลเวียนเลือดและนำไปสู่สภาวะต่าง ๆ เช่น อาการบวมน้ำ
  3. โรคกระดูกพรุน การบริโภคเกลือในปริมาณสูงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ เนื่องจากอาหารที่มีรสเค็มจะไปทำให้เกิดการขับแคลเซียมออกจากร่างกายและขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้ร่างกายสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูกและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน
  4. มะเร็งกระเพาะอาหาร จากการศึกษาบางชิ้น ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการบริโภคเกลือในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องและสะสมมาเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะเกลือโซเดียมจะไปลดปริมาณของเกลือโปแตสเซียมในร่างกายให้ต่ำลง ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายค่อย ๆ ลดต่ำลงไปด้วย จึงมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งลำไส้และกระเพาะอาหารได้มากกว่าคนที่บริโภคเกลือในปริมาณน้อย 
  5. ความไม่สมดุลของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ การบริโภคเกลือที่มากเกินไปจะรบกวนสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์และสมดุลของของเหลวต่าง ๆ ภายในร่างกายล้มเหลวจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น ภาวะโซเดียมในเลือดสูง การทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เริ่มเป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก เกร็ง หากรุนแรงมากขึ้นหัวใจอาจหยุดเต้น และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะทำให้เสียชีวิต

หากไม่อยากประสบปัญหาสุขภาพ เป็นโรคไตและโรคภัยชนิดอื่น ๆ ตามมา สิ่งสำคัญที่สุดคือการบริโภคเกลือ น้ำปลาหรือสารให้ความเค็มทุกชนิดในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินกว่าที่ร่างกายจะขับออกมาเองได้ เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง สำหรับใครที่ชอบกินเค็มก็ควรลดความเค็มลงและหมั่นสังเกตตนเองว่ามีความไวต่อเกลือมากแค่ไหน เพราะความไวต่อความเค็มของเกลือแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนอาจไวต่อผลเสียของการบริโภคเกลือในปริมาณสูงมากกว่าคนอื่น ๆ