ผื่นกุหลาบ โรคหน้าฝนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องระวัง

ผื่นกุหลาบ โรคหน้าฝนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องระวัง

เชื่อว่าหลายคนอาจไม่เคยรู้จักโรคผิวหนังที่เรียกว่า “ผื่นกุหลาบ” (pityriasis rosea) ซึ่งเป็นโรคทางผิวหนังที่เกิด

จากเชื้อไวรัส มักเกิดช่วงฤดูฝน มีลักษณะเป็นผื่นดวงใหญ่บริเวณลำตัวและแพร่กระจายไปทั่วตัวดูน่ากังวล หากโรคนี้เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ อาการของโรคจะเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน เราไปหาคำตอบกัน 

โรคผื่นกุหลาบมีลักษณะอย่างไร

ผื่นกุหลาบหรือเรียกว่าโรคผื่นร้อยวัน ถือเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อย ส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อยในวัย 10-35 ปี และพบกับผู้หญิงเป็นส่วนมาก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย การได้รับวัคซีน ผื่นแพ้ยุงและแมลง และยาบางชนิดก็ทำให้เกิดผื่นได้

  • ในช่วงเริ่มแรกลักษณะของผื่นเป็นวงกลมหรือวงรีกว้าง 
  • เป็นผื่นสีชมพู หรือสีแดง หรือสีน้ำตาล 
  • ขนาดประมาณ 2-5 เซนติเมตร หรือขยายลุกลามกว้างสุดถึง 10 เซนติเมตร
  • เริ่มแรกมีอาการคล้ายผิวหนังตกสะเก็ด ปรากฏขึ้นประมาณ 2 วัน จุดเริ่มต้นพบตามบริเวณลำตัว หน้าอก หน้าท้อง แผ่นหลัง บางครั้งผื่นขึ้นบริเวณคอ แขน หรือขาส่วนบน 
  • บางครั้งพบว่าผื่นลามไปถึงใบหน้า หนังศีรษะ หรือใกล้อวัยวะเพศด้วย อาจมีอาการคันเล็กน้อยถึงรุนแรง
  • ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดตามข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต 

ผื่นกุหลาบ โรคหน้าฝนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องระวัง

ผื่นกุหลาบสามารถพบได้ตลอดทั้งปี โดยส่วนใหญ่มักพบบ่อยในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน เนื่องจากอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ ใครมีผิวค่อนข้างแห้งจะยิ่งมีอาการคันรุนแรงมากขึ้น โดยมากโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตรา 2:1 โดยระยะแรกจะนำร่องด้วยผื่นที่ลำตัวเป็นผื่นใหญ่ แล้วผื่นเล็กจะตามมา พร้อมกับอาการไข้ ปวดเมื่อย และปวดข้อ อาการของผื่นกุหลาบจะปรากฏอยู่บนผิวหนังประมาณ 2-12 สัปดาห์ และหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยถาวรเอาไว้ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนานถึง 5 เดือนหรือมากกว่า หลังจากที่ผื่นหายแล้วอาจทิ้งรอยไว้ในระยะสั้น ๆ และจะค่อย ๆ เลือนหายไปเอง สำหรับผู้ที่มีผิวคล้ำอาจสังเกตเห็นจุดสีน้ำตาลยาวนานกว่าปกติ 

โดยปกติผื่นกุหลาบไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและโอกาสเป็นซ้ำมีน้อย โรคนี้เป็นแล้วหายได้เอง แต่ถ้าเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอันตรายมากขึ้น เสี่ยงถึงขั้นคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งลูกได้ ต้องระวังให้มากโดยเฉพาะในช่วง 15 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หากมีอาการผื่นกุหลาบบนร่างกาย ควรไปปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาและให้แน่ใจว่าลูกน้อยในครรภ์มีความปลอดภัย

วิธีการดูแลตัวเองในเบื้องต้น

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคผื่นกุหลาบ เมื่อผิวหนังเกิดเป็นผื่น แพทย์จะใช้วิธีรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยใช้ครีมหรือยาทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวบริเวณที่มีผื่นขึ้น พร้อมกับรับประทานยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการคัน หากมีอาการน้อยไม่ลุกลามก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา เลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนและเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เลี่ยงการอาบน้ำอุ่น ควรอาบน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องเพื่อปิดรูขุมขนและป้องกันความชื้นภายในผิวหนังไม่ให้ระเหยออกไป สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและไม่ระคายเคืองผิวหนัง รอเวลาให้ผื่นหายเองภายใน 6-8 สัปดาห์

ในรายที่มีผื่นขึ้นกระจายเป็นวงกว้าง ต้องรักษาด้วยการฉายแสงยูวีบีให้อาการอักเสบทุเลาลง ยิ่งเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการผื่นเกิดขึ้น ควรเข้าพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะในช่วง 15 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์