โรคหนองในแท้ กับ โรคหนองในเทียม ต่างกันอย่างไร

โรคหนองในเเท้ กับ โรคหนองในเทียมต่างกันอย่างไร

เมื่อมีการกล่าวถึงโรคที่เกิดหรือติดต่อกันได้จากการมีเพศสัมพันธ์ “โรคหนองใน” เป็นหนึ่งในโรคที่ต้องถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างและแนะนำแนวทาง

การป้องกันกันอยู่เสมอ ๆ โดยโรคหนองในนั้นจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ โรคหนองในแท้ และโรคหนองในเทียม ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โรคหนองในทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะพาท่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากขึ้น

โรคหนองในแท้ คือ

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย มีลักษณะเป็นรูปร่างค่อนข้างกลม ซึ่งจะอยู่ด้วยกันเป็นคู่และหันด้านเว้าเข้าหากัน มองดูคล้ายเมล็ดกาแฟหรือเมล็ดถั่ว เชื้อชนิดนี้มักจะก่อให้เกิดโรคเฉพาะบริเวณที่เป็นเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ ทวารหนัก ลำคอ เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ ปากมดลูก เยื่อบุมดลูก เยื่อบุตา โดยเชื้อจะแพร่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสของเหลวจากร่างกาย ที่สำคัญคือสามารถที่จะติดต่อจากหญิงตั้งครรภ์ไปสู่ทารกในช่วงระหว่างคลอดได้ด้วย

โรคหนองในเทียม คือ

โรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์มีลักษณะคล้ายกับโรคหนองในแท้ เพียงแต่จะมีความรุนแรงที่น้อยกว่าและมีระยะการฟักตัวของโรคที่นานกว่า โรคหนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลามายเดีย ทราโคเมทิส ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่มักพบได้บ่อยในเพศหญิงและสามารถติดต่อไปยังทารกแรกเกิดได้หากได้รับเชื้อมาจากมารดาในขณะตั้งครรภ์

อาการของโรคหนองใน 

อาการของโรคที่พบในเพศชายและเพศหญิงนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. หนองในเพศชาย หลังจากได้รับเชื้อแล้ว 2 – 5 วัน มักจะมีอาการปัสสาวะขัดอย่างรุนแรง มีหนองสีเหลืองข้นไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ หรือถึงขั้นทำให้เป็นหมันได้
  2. หนองในเพศหญิง หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 10 วัน จะมีอาการตกขาว มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะขัดและแสบ อันมีสาเหตุมาจากท่อปัสสาวะอักเสบ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบทำการรักษาเชื้อจะลุกลามจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดการอักเสบบริเวณอุ้งเชิงกราน ปีกมดลูกอักเสบ เกิดการอุดตันของท่อรังไข่ ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรืออาจจะเป็นหมันได้ หากเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์แล้วคลอด ทารกจะได้รับเชื้อจากมารดาและมีอาการตาอักเสบ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะส่งผลทำให้ทารกตาบอดได้

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงเป็นโรคหนองใน

  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
  • ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหนองใน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้ป่วยโรคหนองใน
  • ควรตรวจสุขภาพเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี

วิธีรักษาโรคหนองใน

ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหนองในมักจะเป็นโรคหนองในเทียมร่วมด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรักษาไปพร้อม ๆ กัน โดยวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งแบบรับประทานและแบบยาฉีด ซึ่งการรักษาจะดีขึ้นหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ถ้าหากปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดจะช่วยให้อาการดีขึ้นและหายได้ แต่อย่างไรก็ตามโรคหนองในเมื่อหายแล้วสามารถที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ ดังนั้นเมื่อรักษาหายสนิทแล้วควรปฏิบัติตามวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นอย่างเคร่งครัดจะดีที่สุด