โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน

สะเก็ดเงิน เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยค่อนข้างที่จะต้องการความเข้าอกเข้าใจจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบ

แบบเรื้อรัง จากนั้นเป็นผื่นแดงและขุยสีขาวขึ้นอยู่ตามร่างกาย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็สามารถสร้างความกังวลใจให้กับผู้ป่วยได้ไม่น้อยเลย

ลักษณะของโรคสะเก็ดเงิน 

โรคสะเก็ดเงินจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงค่อนข้างหนาและมีขุยสีขาว ดูคล้ายรังแคแต่จะมีอาการที่รุนแรงกว่าและมีสะเก็ดออกมามากกว่า ในช่วงแรก ๆ มักจะเริ่มต้นเป็นที่บริเวณหนังศีรษะก่อนที่จะกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณศอกและเข่า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย ๆ หรือบริเวณที่มีการเกาเพราะโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการคันร่วมด้วย

สาเหตุของการเกิดโรค

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องของระบบอิมมูนร่วมกับสารพันธุกรรม ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ ผิวหนังบริเวณนั้นจึงมีความหนามากกว่าที่ควรจะเป็นอันเป็นต้นเหตุทำให้ผิวหนังหลุดออกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่เป็นสาเหตุทำให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วขึ้นส่งผลทำให้ผื่นเกิดการหนาตัวขึ้นมา รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างพันธุกรรมก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะในบางกรณีพบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักจะมีญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน และยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน เช่น ความเครียด มีรอยแกะเกาตามผิวหนัง และรอยผ่าตัดผิวหนัง เป็นต้น

อาการของโรคเป็นอย่างไร

อาการของโรคสะเก็ดเงินที่พบบ่อยที่สุดจะมีลักษณะของผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง ลอกเป็นขุย อาการเหล่านี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการที่แตกต่างกันไป บางรายเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไปเอง หรือในบางรายมีอาการเป็นผื่นแบบเรื้อรัง นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย อาทิ เล็บและข้อเกิดการอักเสบ โดยจะปวดตามข้อก่อนหรือเล็บเกิดความผิดปกติ หรืออาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองอย่างก็ได้

วิธีการรักษา

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่สามารถทำให้โรคสงบได้ เพียงแค่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้โรคกำเริบ อาทิ การพักผ่อนไม่เพียงพอ การติดเชื้อแบคทีเรียที่คอ น้ำหนักเกิน ความเครียด การดื่มสุรา สูบบุหรี่ รวมถึงพฤติกรรมการชอบแกะเกา เป็นต้น ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค เช่น

  1. ถ้าหากมีอาการน้อยจะใช้วิธีรักษาด้วยการทายาเพื่อช่วยลดการอักเสบ
  2. ถ้าหากมีผื่นหนาและเป็นวงกว้าง จะเลือกใช้วิธีรักษาด้วยการทายาและกินยาร่วมด้วย หรือรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียม
  3. ถ้าหากมีอาการดื้อต่อการรักษาก็จะเลือกใช้วิธีรักษาด้วยการฉีดยาชีวภาพ

วิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคสะเก็ดเงิน

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน ดังนั้นวิธีการดูแลตัวเองในเบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เป็นโรคสะเก็ดเงินนั้นก็คือ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้หลากหลาย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่สูบบุหรี่ ไม่เครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้าหากเป็นโรคสะเก็ดเงินแล้วจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้ อาทิ

  1. สร้างความรำคาญ เพราะมีอาการคัน แต่ไม่มีอาการรุนแรง
  2. อาการผื่นที่เกิดขึ้นตามร่างกายจะทำให้เสียบุคลิกภาพและทำให้ขาดความมั่นใจได้
  3. ถ้าหากมีอาการปวดตามข้อและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลทำให้ข้อผิดรูปจนถึงขั้นพิการได้