พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 อนุญาตให้หญิงที่
ต้องการยุติการตั้งครรภ์ หรือทำแท้ง สามารถเข้ารับบริการได้เมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยไม่มีความผิดทางอาญา ซึ่งกฎหมายเดิมไม่ว่าอายุครรภ์เท่าไรก็จะถือว่าเป็นความผิดและต้องได้รับการลงโทษ
การแก้ไขกฎหมายใหม่นี้เป็นการคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ต่อไป อันเป็นสิทธิพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการที่จะกระทำการใด หรือไม่กระทำการใดต่อชีวิตและร่างกายของตัวเองได้ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่รบกวนหรือล่วงล้ำเข้าไปสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น ทั้งนี้ทารกในครรภ์ก็ยังได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วยโดยนำช่วงอายุครรภ์มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 มีดังนี้
- กำหนดบทลงโทษของหญิงที่ตั้งใจทำแท้งหรือยอมให้ผู้อื่นเป็นผู้กระทำแทนโดยที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาเมื่อเป็นผู้ทำให้หญิงยุติการตั้งครรภ์ในกรณีดังต่อไปนี้
- กระทำโดยพิจารณาแล้วว่าหากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปจะเกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์ ซึ่งก่อนหน้านี้จะพิจารณาเฉพาะอันตรายทางด้านร่างกายเท่านั้น
- กระทำโดยผ่านการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าทารกที่จะคลอดออกมามีโอกาสเกิดความผิดปกติจนถึงทุพพลภาพอย่างร้ายแรง ซึ่งทำให้ผู้ที่เกิดมาใช้ชีวิตได้ยากในสังคม
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ยืนยันกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากการกระทำผิดทางเพศ ได้แก่ (1) ถูกล่วงละเมิดทางเพศ (2) หญิงตั้งครรภ์เป็นเด็กหญิงอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ ไม่ว่าเด็กหญิงจะถูกล่อลวงหรือไม่ก็ตาม (3) การตั้งครรภ์ที่เป็นผลมาจากเป็นธุระ ล่อไป หรือพาไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น (4) การตั้งครรภ์ที่เป็นผลมาจากการบังคับ และ (5) การตั้งครรภ์เนื่องจากการซื้อขายบริการทางเพศ
- หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
- หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการเข้ารับคำแนะนำและร่วมกันแก้ปัญหาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ
ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้จะถูกบังคับใช้มานานกว่า 1 ปีแล้ว แต่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายดังนี้
- ปัญหาในการตีความ
- ไม่ได้กำหนดวิธีการนับอายุครรภ์ไว้ ทำให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่แน่ใจว่าต้องนับอายุครรภ์อย่างไร
- ไม่ได้กำหนดนิยาม หรือประเภทของความทุพพลภาพอย่างร้ายแรง ทำให้มีข้อสงสัยว่า (1) ความทุพพลภาพอย่างร้ายแรงหมายถึงความทุพพลภาพถึงขั้นที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้เท่านั้นหรือไม่ (2) ใครเป็นผู้ชี้ขาดว่าเป็นความทุพพลภาพอย่างร้ายแรง (3) อายุครรภ์ที่สามารถตรวจพบความทุพพลภาพได้ (4) การพิจารณาโอกาสที่ทารกในครรภ์จะพัฒนาและเติบโตมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
- ไม่ได้มีมาตรการคัดกรองเมื่อหญิงยืนยันว่าตนมีครรภ์เนื่องจากการกระทำผิดทางเพศโดยไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐาน เนื่องจากเงื่อนไขนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุครรภ์ทำให้มีโอกาสที่หญิงไม่ได้ถูกกระทำผิดทางเพศใช้ช่องทางนี้ในการทำแท้ง
- ปัญหาเรื่องสถานที่ให้บริการ
- สถานที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์มีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้รับบริการต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการ
- สถานที่ให้บริการที่มีอยู่ไม่มากนี้ยังมีการตั้งเงื่อนไขในการให้บริการด้วย เช่น ให้บริการเฉพาะวัยรุ่น ให้บริการเฉพาะช่วงอายุครรภ์ที่กำหนด เป็นต้น
- กฎหมายใหม่ไม่ได้บังคับให้แพทย์ทุกคนต้องให้บริการ โดยระบุว่าถ้าไม่ให้บริการสามารถส่งต่อโรงพยาบาลที่ให้บริการได้ แต่ประชาชนไม่มีข้อมูลว่าสถานที่ให้บริการมีที่ใดบ้าง
- อคติส่วนบุคลต่อการยุติการตั้งครรภ์
- ผู้รับบริการถูกปฏิเสธการให้บริการหรือส่งต่อ รวมถึงการแสดงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ให้เกียรติกับผู้ขอรับบริการ
- ความสัมพันธ์ของกฎหมายกับข้อบังคับของแพทยสภา
- ถึงแม้กฎหมายจะระบุว่าหญิงเพียงแค่ยืนยันว่าถูกกระทำทางเพศก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่แพทยสภากำหนดว่าหญิงต้องลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานไว้กับแพทย์ และกำหนดว่าการยุติการตั้งครรภ์ต้องกระทำในสถานที่บริการของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น
ถึงแม้เจตนาของกฎหมายจะคุ้มครองสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง แต่ในทางปฏิบัติกลับมีอุปสรรคในการเข้ารับบริการ เพื่อให้ทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยเป็นจริง จึงควรกำหนดการตีความให้ชัดเจน ประชาสัมพันธ์สถานที่ให้บริการรวมถึงมาตรฐานการปฏิบัติงาน การสร้างความเข้าใจของกลุ่มคนต่าง ๆ และการกำหนดเงื่อนไขที่สนับสนุนกัน