ทำแท้งโดยผิดกฎหมาย – มีบทลงโทษอะไรบ้าง ?

ทำแท้งโดยผิดกฎหมาย - มีบทลงโทษอะไรบ้าง

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษกรณียุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้ง ได้แก่ มาตรา 301 – 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ซึ่งใน

มาตรา 301 และ 305 เพิ่งได้รับการแก้ไขตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับผู้หญิง ด้วยเป็นการเอาผิดเฉพาะกับผู้หญิงทั้งที่การตั้งครรภ์ไม่สามารถเกิดขึ้นโดยฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว ยิ่งกว่านั้นยังทำให้ผู้หญิงที่ไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ต้องยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้งเถื่อนซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต

สาระสำคัญของมาตรา 301 – 305 มีดังนี้

มาตรา 301 กำหนดบทลงโทษของผู้หญิงที่ตั้งใจทำให้ตัวเองแท้งลูก หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้โดยที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แล้ว มีโทษตามกฎหมายดังนี้

  • จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 302 กำหนดบทลงโทษของผู้ที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์แท้งลูกแม้หญิงตั้งครรภ์จะให้ความยินยอมดังนี้

  • จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับอันตราย ผู้กระทำมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับอันตรายจนถึงแก่ความตาย ผู้กระทำมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรา 303 กำหนดโทษของการทำให้หญิงตั้งครรภ์แท้งลูกโดยที่หญิงตั้งครรภ์ไม่ได้ยินยอมดังนี้

  • จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับอันตราย ผู้กระทำมีโทษจำคุกระหว่าง 1 – 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับอันตรายจนถึงแก่ความตาย ผู้กระทำมีโทษจำคุกระหว่าง 5 – 20 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 – 40,000 บาท

มาตรา 304 ระบุไว้ว่าการพยายามกระทำผิดตามมาตรา 301 และ 302 ไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 305 ระบุไว้ว่าหากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้กระทำผิดตามมาตรา 301 และ 302 โดยได้กระทำไปตามหลักของแพทยสภาในกรณีต่อไปนี้ถือว่าไม่มีความผิด 

  • การตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ
  • มีความเสี่ยงหรือแพทย์ให้ความเห็นว่าทารกเสี่ยงที่จะทุพพลภาพอย่างรุนแรง
  • ตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำผิดทางเพศ
  • อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ 
  • อายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ โดยการตรวจและรับคำปรึกษาตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

การยุติการตั้งครรภ์ตามเงื่อนไขข้อ 1 – 3 ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุครรภ์

มาตรา 305 มีบทบัญญัติที่ได้รับการแก้ไขเพื่อให้มีความชัดเจน และสะดวกต่อการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมดังนี้

  • คำว่า “สุขภาพ” นอกจากสุขภาพทางร่างกายแล้วยังรวมถึงสุขภาพจิตของผู้ตั้งครรภ์ด้วย
  • บัญญัติคำว่า “ทุพพลภาพ” ที่หมายถึงการทุพพลภาพทั้งทางร่างกายและสมอง ซึ่งเดิมไม่ได้บัญญัติไว้
  • “การกระทำผิดเกี่ยวกับเพศ” ไม่ต้องแสดงหลักฐาน เพียงหญิงตั้งครรภ์ยืนยันกับแพทย์ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งช่วยลดขั้นตอนและไม่ผลักภาระให้กับผู้หญิงในการพิสูจน์ว่าตัวเองถูกกระทำทางเพศ

การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งนอกจากช่วยให้หญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีความพร้อมสามารถเข้ารับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสังคมจากการให้กำเนิดบุตรโดยที่แม่ไม่มีความพร้อมด้วย อย่างไรก็ตามการให้ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิดเป็นวิธีป้องกันการเกิดปัญหาที่ดีที่สุด