โรคผิวหนังแข็ง

โรคผิวหนังแข็ง

โรคผิวหนังแข็งเป็นความผิดปกติที่เกิดกับผิวหนังรุนแรง วันนี้จึงชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการของโรคผิวหนัง

ผิวหนังแข็งกันให้มากขึ้นว่าเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร แล้วแนวทางการรักษาโรคผิวหนังแข็งนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าอยากรู้แล้วตามไปหาคำตอบพร้อมกันเลยดีกว่า

ทำความรู้จักกับโรคผิวหนังแข็ง

โรคผิวหนังแข็ง (scleroderma) เป็นโรคทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย กล่าวง่าย ๆ ก็คือเป็นกลุ่มเดียวกับโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สร้างโครงสร้างคอลลาเจนออกมามากเกินปกติทำให้เกิดเป็นลักษณะของพังผืดจนผิวหนังแข็งตึงขึ้น ไม่เพียงเฉพาะที่ผิวหนังเท่านั้นแต่อาจจะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดพังผืดและแข็งตึงขึ้นด้วย เช่น เนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร หลอดเลือด รวมไปถึงบริเวณกระดูกและข้อ

โรคผิวหนังแข็งจัดว่าเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงไม่สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ อาการแสดงหลัก ๆ ของผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่สังเกตได้จากภายนอกเลยก็คือผิวหนังแข็งตึงจนทำให้ขยับเขยื้อนตัวลำบาก กำมือไม่ได้ และอาจจะมีแผลเป็นจ้ำบริเวณปลายนิ้ว นอกจากนั้นอาจพบความผิดปกติไปถึงระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร และระบบไหลเวียนโลหิตได้ เช่น มีอาการไอแห้ง หอบ เหนื่อยง่าย หลอดเลือดหด เกิดภาวะซีด เกิดแผลจ้ำเลือด บางรายอาจมีอาการกลืนลำบาก เกิดภาวะกรดไหลย้อน และอาจจะมีอาการความดันโลหิตสูงและภาวะไตเสื่อมร่วมด้วย

กลุ่มเสี่ยงที่มักเป็นโรคผิวหนังแข็งส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุ ประมาณ 30 – 40 ปี โดยจะพบโรคนี้เกิดกับกลุ่มเพศหญิงได้บ่อยกว่าเพศชาย ประมาณ 1 ใน 4

ประเภทของโรคผิวหนังแข็ง

โรคผิวหนังแข็งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. โรคผิวหนังแข็งเฉพาะที่ คือ มีความผิดปกติเฉพาะที่ โดยจะพบว่าผิวหนังแข็งเป็นแถบแนวยาวเฉพาะจุดไม่ได้เป็นทั้งร่างกาย การรักษาก็จะทำได้ง่ายกว่า เน้นลดการอักเสบเฉพาะจุด ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นได้แต่ต้องใช้เวลาในการรักษาแบบต่อเนื่องค่อนข้างนานกินเวลาหลายปีจึงจะกลับมาเป็นปกติ

2. โรคผิวหนังแข็งชนิดซิสเต็มมิก (Systemic scleroderma) เป็นโรคผิวหนังแข็งที่กระจายทั่วตัวได้ ซึ่งอาการของโรคจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

– ระยะ 1 ระยะอักเสบที่จะมีอาการผิวหนังอักเสบ ตึง และบวม นอกจากนั้นยังอาจมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อกระดูก 

– ระยะที่ 2 ในระยะนี้ผิวหนังแข็งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และหากถูกความเย็นผิวหนังก็จะซีดหรือกลายเป็นสีดำคล้ำ 

– ระยะที่ 3 เป็นระยะรุนแรงที่ผิวหนังเริ่มแข็งคล้ำและตกสะเก็ด และเกิดผลกระทบต่ออวัยวะและระบบอื่น ๆ ในร่างกาย

การดูแลรักษาโรคผิวหนังแข็ง

การรักษาโรคผิวหนังแข็งในปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการร่วมกับใช้ยากดภูมิคุ้มกันและยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างคอลลาเจน โดยจะเป็นการรักษาระยะยาวแบบต่อเนื่องที่กินเวลานานหลายปี มีโอกาสที่จะกลับมาหายดีและใช้ชีวิตเป็นปกติแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วย

ส่วนการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสความเย็น แนะนำให้สวมเสื้อผ้าหนา ๆ สวมถุงมือถุงเท้า ป้องกันไม่ให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังหดตัวและแข็งมากขึ้น นอกจากนั้นควรกายภาพบำบัดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะยึดติดของกล้ามเนื้อและกระดูก

โรคผิวหนังแข็งเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน หากเป็นแล้วต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนาน ทางที่ดีควรเริ่มต้นดูแลสุขภาพกันตั้งแต่วันนี้เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานปกติก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคผิวหนังแข็งลงได้