โรคคอตีบเกิดจากอะไร และวิธีการรักษา

โรคคอตีบเกิดจากอะไร และวิธีรักษา

โรคคอตีบ เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Corynebacterium diphtheria เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจที่มีความรุนแรง ก่อให้เกิดการอักเสบในลำคอและ

หลอดลมทำให้หายใจลำบาก และอาจลุกลามจนทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยในผู้ป่วยโรคคอตีบทุก ๆ 10 คน จะมีโอกาสเสียชีวิต 1 คนเลยทีเดียว

อาการของโรคคอตีบมีดังนี้

  • มีไข้ต่ำ มีอาการเหมือนไข้หวัดในระยะแรก แต่ไม่มีน้ำมูก
  • ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว 
  • คลื่นไส้ อาเจียน กลืนอาหารยาก ไม่อยากอาหาร
  • ไอเสียงดังก้อง
  • เจ็บคอ
  • มีอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • บางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
  • มีแผ่นเยื่อสีขาวปนเทา สีเทา หรือสีเหลือปนเทา ติดอยู่กับเนื้อเยื่อปกติบริเวณเพดานปาก ลิ้นไก่ คอ และต่อมทอนซิล 

โรคคอตีบเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อพบว่ามีอาการป่วยควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อทำการรักษา ห้ามซื้อยามารับประทานเองเนื่องจากอาจไม่ตรงกับเชื้อโรคและส่งผลทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ เมื่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลผู้ป่วยจะถูกรักษาแยกจากผู้ป่วยอื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงการเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการเฝ้าระวังระบบทางเดินหายใจและระบบการไหลเวียนของเลือด โรคคอตีบสามารถหายได้โดยการรับประทานยาปฎิชีวนะ 14 วัน ที่สามารถหยุดการแพร่เชื้อได้ภายใน 48 ชั่วโมง 

โรคคอตีบมีระยะฟักตัว 1 – 7 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 3 วัน ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ง่ายและรวดเร็วโดยการพูดคุยกันระยะใกล้ การไอ การจาม และการใช้สิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือของเล่น เป็นต้น 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคคอตีบ ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีโรคคอตีบระบาด และผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ไม่มีสุขอนามัย

โรคคอตีบสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. ไม่สัมผัสผู้ป่วยในระยะติดต่อ
  2. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ และควรล้างมือบ่อย ๆ
  3. ไม่ใช้ภาชนะรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลาง
  4. เด็กเล็กควรระวังไม่ให้อมดูดของเล่นร่วมกัน
  5. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ 
  6. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  7. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรคคอตีบและเชื้อโรคอื่น ๆ
  8. สวมหน้ากากอนามัย
  9. ร่วมมือกับชุมชนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่ส่งผลต่อสุขอนามัย
  10. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ
  • นำเด็กไปฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ 2, 4, 6, 18 เดือน และเมื่ออายุ 4 ขวบ ต่อจากนั้นให้ฉีดเข็มกระตุ้นอีกเมื่ออายุ 12 ปี 
  • ผู้ใหญ่อายุ 20 – 50 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ระดับภูมิคุ้มกันอาจไม่เพียงพอกับการป้องกันโรคคอตีบ จึงควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคคอตีบทันที
  • ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบมาแล้ว ควรฉีดเข็มกระตุ้นทุก 10 ปี
  • ผู้ป่วยโรคคอตีบที่รักษาหายแล้วอาจมีโอกาสเป็นซ้ำได้เนื่องจากร่างกายยังไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อหายป่วยแล้ว
  • ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคคอตีบ ผู้ที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรืออาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่มีปัญหาด้านสุขอนามัย ควรได้รับการฉีดวัคซีนด้วย

โรคคอตีบถึงแม้จะเป็นโรคร้ายแรงแต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ใจดูแลสุขอนามัยของตัวเองและคนใกล้ชิดให้ดี ไม่ควรเข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้ป่วยในระยะติดต่อ และควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคตามระยะเวลากำหนด