ต้อกระจกตา เกิดจากอะไร ?

ต้อกระจกตา เกิดจากอะไร

ต้อกระจกตา (Cataract) เกิดจากความผิดปกติของโปรตีนในเลนส์ตาส่งผลให้เลนส์ตาที่เคยใสกลับมีความขาวขุ่นทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าสู่เลนส์ตา

ได้ตามปกติประสิทธิภาพในการมองเห็นจึงลดลง โดยอาการของต้อกระจกตามีดังนี้

  1. ค่อย ๆ มองเห็นไม่ชัด เหมือนมองผ่านกระจกฝ้า 
  2. มองเห็นสีแตกต่างไปจากเดิม 
  3. สายตาพร่าเห็นภาพซ้อน 
  4. เห็นแสงไฟแตกกระจาย 
  5. อ่านหนังสือตัวเล็กไม่เห็น
  6. ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อย 
  7. รูม่านตาเริ่มมีสีขาวขุ่นและแผ่ออกด้านนอก 

ต้อกระจกตาหากปล่อยไว้ไม่รักษาจะมีความผิดปกติมากขึ้นจนทำให้ตาบอดได้ โดยอาการของต้อกระจกจะมี 4 ระยะด้วยกันดังนี้

ระยะที่หนึ่ง เริ่มมองภาพไม่ชัด ปรับระยะโฟกัสยากขึ้น ค่าสายตาเปลี่ยนไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเป็นต้อกระจกเพราะดวงตายังดูเป็นปกติ

ระยะที่สอง เลนส์ตาจะเริ่มเป็นสีขาวขุ่น ส่วนใหญ่จะเริ่มจากตรงกลางเลนส์ ผู้ป่วยจะมองเห็นไม่ชัดในที่สว่าง สายตาสั้นมากขึ้น

ระยะที่สาม เลนส์ตาจะขุ่นมากขึ้น เริ่มส่งผลกระทบกับการมองเห็นทำให้การใช้ชีวิตลำบากขึ้น เป็นระยะที่ยังรักษาได้ง่ายจึงควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา

ระยะที่สี่ เลนส์ตาขุ่นมากขึ้นกว่าเดิมและเป็นก้อนแข็ง ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นเป็นอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาด้วยยาหยอดตา การรักษามีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี กรณีที่ต้อกระจกยังไม่แข็งมาก สามารถรักษาโดยการผ่าตัดสลายต้อกระจก แต่ในกรณีที่ต้อกระจกถูกทิ้งไว้นานและมีความแข็งมากต้องใช้วิธีผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้าง ทั้งสองวิธีนี้เมื่อนำเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกตาออกแล้วจะทำการใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่

ต้อกระจกตามักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่คนทุกวัยก็สามารถเป็นได้ โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. ความเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตาในผู้สูงอายุที่เสื่อมตามธรรมชาติ มักพบในผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  2. ความผิดปกติตั้งแต่เกิด เช่น แม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างการตั้งครรภ์
  3. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
  4. ได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนดวงตา
  5. การใช้ยาบางประเภทติดต่อกันเป็นเวลานาน
  6. การจ้องมองแสงสว่างเป็นเวลานาน ๆ เช่น การจ้องแสงจากโทรศัพท์ในเวลากลางคืน การจ้องแสงที่เกิดจากการเชื่อมเหล็ก เป็นต้น

วิธีดูแลรักษาดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกตา ได้แก่

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น อาหารที่มีวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. พักสายตาเมื่อใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน
  4. ใส่แว่นกันแดด หรือหมวกปีกกว้าง เมื่อต้องอยู่สถานที่ที่มีแสงจ้า หลีกเลี่ยงการจ้องมองแสงจ้า หรือใช้เครื่องป้องกันสายตาเมื่อต้องทำงานกับแสงจ้า เช่น การเชื่อมเหล็ก
  5. ไม่ซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาควรพบแพทย์
  6. ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่กระทบกับดวงตา
  7. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  8. ตรวจวัดสายตาและตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ต้อกระจกตาในระยะเริ่มแรกยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กรณีที่มองเห็นไม่ชัดสามารถแก้ไขได้โดยการใส่แว่นตาตามค่าสายตา แต่เมื่อมีอาการมากขึ้นควรพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดต่อไป