หลายคนคงเคยเห็นแม่วิ่งไล่ป้อนอาหารลูก ก็ได้แต่สงสัยว่าเด็กไม่หิวหรือ ทำไมไม่ยอมกินจะได้อิ่มท้อง แต่เรื่องนี้
มีสาเหตุที่สามารถอธิบายได้และเป็นปัญหาที่แก้ไขได้หากรู้หลักวิธีที่ถูกต้อง สำหรับพ่อแม่ที่เคยผ่านการเลี้ยงลูกมาก่อน คงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการรับมือและแก้ไขปัญหาลูกทานยากและป่วยบ่อยในวัยเด็กกันมาพอสมควร แต่สำหรับใครที่กำลังจะเป็นพ่อแม่มือใหม่อาจเครียดและกังวลมิใช่น้อยว่าจะรับมือและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร ถ้าหากเรารับรู้ถึงปัญหาและเข้าใจลูกน้อยเป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้เรื่องยากที่จะรับมือกลายเป็นเรื่องที่แก้ไขได้โดยง่าย
ต้องบอกว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับเด็กทุกคน บางคนใช้เวลาในการรับประทานอาหารนาน บางคนต้องล่อหลอกสารพัดกว่าจะยอมกินได้แต่ละคำ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป เพราะร่างกายเริ่มจะมีการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะต่อมรับรสที่ยิ่งโตขึ้น ยิ่งทำให้ไม่ชอบอาหารที่เคยกินในวัยทารก จึงทำให้เลือกทานอาหารเฉพาะที่ตนเองชอบเท่านั้น
อีกหนึ่งปัญหาที่พบเด็กทานยาก มาจากการที่เด็กป่วยหรือประสบปัญหาปากและลำคอ ทำให้เด็กไม่อยากจะกินอะไร เช่น ภาวะร้อนในในเด็ก ปากเป็นแผลจากการติดเชื้อ เช่น โรคมือเท้าปาก เป็นต้น พ่อแม่จะต้องคอยดูแลและเอาใจใส่สุขอนามัยของลูกน้อยอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคดังกล่าว นอกจากนี้บรรยากาศในการรับประทานอาหารก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่จะช่วยให้ลูกรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุข ซึ่งอาจมีหกเลอะบ้างแต่ก็เป็นการสร้างบรรยากาศให้พ่อแม่ได้ใกล้ชิดลูกมากยิ่งขึ้น หากกังวลเรื่องความสกปรก พ่อแม่ก็ควรแสดงเป็นตัวอย่างให้ลูกดู เช่น การจับช้อน การตักอาหารใส่ปาก การใช้ผ้าเช็ดปากเมื่อเลอะ เป็นต้น
สำหรับเด็กในวัย 1- 5 ขวบขึ้นไป ถือเป็นเรื่องปกติมาก จนบางครั้งพ่อแม่แทบอยากจะป่วยแทนลูกเลยก็มี โดยเฉพาะเมื่อมีอาการไข้สูงและต้องโดนพยาบาลเช็ดตัวให้ เสียงลูกน้อยร้องงอแงจนพ่อแม่แทบจะขาดใจเสียให้ได้ แต่ถ้าพิจารณาถึงอาการป่วยและสาเหตุที่แท้จริงก็จะช่วยให้พ่อแม่มือใหม่เบาใจลงได้ เพียงแต่จะต้องตั้งสติและหมั่นสังเกตลูกอยู่ตลอดเวลา หากเป็นไปได้ควรจดบันทึกทุกอย่างที่เกี่ยวกับลูก เช่น กินอาหารกับอะไร, อาหารที่กินปรุงเองหรือซื้อ, อาหารปรุงสุกใหม่หรือไม่, นม-น้ำ ปกติดีไม่บูด ไม่เสียหรือมีสิ่งอื่นเจือปน, การกินอาหารร่วมกับคนอื่น สภาพแวดล้อมและอากาศที่อยู่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูก ๆ ป่วยง่ายและป่วยบ่อยได้ ซึ่งการจดบันทึกจะได้ช่วยจำและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในเบื้องต้นและคอยระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้น
หากถึงที่สุดแล้วพ่อแม่มือใหม่ยังไม่สามารถรับมือหรือแก้ไขปัญหาลูกน้อย ทานยาก ป่วยบ่อยได้ด้วยตนเอง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ารับการรักษาและปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับเด็ก เพื่อที่จะได้หาสาเหตุและวิธีการป้องกันต่อไป โดยเฉพาะอาการป่วย อย่าปล่อยให้หายเอง เพราะอาจเกิดการเรื้อรังและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนเกิดโรคใหม่ขึ้นมาได้