การรักษารากฟันคืออะไร?

การรักษารากฟันคืออะไร

การรักษารากฟัน คือกระบวนการรักษาฟันผุที่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน เกิดการติดเชื้อและอักเสบเป็นหนองที่ปลายรากฟันทำให้ปวดฟัน

จะรักษาด้วยการอุดฟันธรรมดาแบบทั่วไปไม่ได้ ต้องฆ่าเชื้อทำความสะอาดโพรงประสาทฟันและรักษารากฟันแล้วทำการครอบฟันเป็นขั้นตอนสุดท้ายทำให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยไม่ต้องถอน

รากฟัน คืออะไร?

รากฟันเป็นชิ้นส่วนของฟันฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ส่วนประกอบของรากฟันประกอบด้วยเคลือบรากฟันเป็นชั้นนอกที่หุ้มและยึดรากฟันติดกับกระดูก โดยเคลือบรากฟันนี้ จะมีความแข็งน้อยกว่าเคลือบฟัน ภายในรากฟันมีโพรงประสาทฟันอยู่ชั้นในสุดประกอบด้วยเส้นเลือดและเส้นประสาทฟัน เวลาฟันผุรุนแรงทะลุถึงโพรงประสาทฟันจึงรู้สึกปวดเสียวฟัน ฟันแต่ละซี่มีรากฟันไม่เท่ากัน เช่น ฟันหน้ามี 1 ราก ฟันกรามมี 2-4 ราก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของฟัน

สาเหตุที่ต้องรักษารากฟัน 

เมื่อเกิดฟันผุมากแล้วปล่อยทิ้งนานเกินไปจนผุทะลุลึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน เกิดอุบัติเหตุหรือกัดของแข็งทำให้ฟันร้าวฟันแตกหักลึก เกิดการติดเชื้อ อักเสบ เป็นหนองบริเวณรากฟัน ซึ่งจะทำการรักษาด้วยวิธีอุดฟันตามปกติไม่ได้ ต้องรักษาเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันเพื่อฆ่าเชื้อก่อน แล้วซ่อมแซมรากฟันเพื่อไม่ให้ต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป รวมถึงป้องกันไม่ให้การอักเสบลุกลามไปยังฟันซี่ข้างเคียงด้วย

สัญญาณที่บอกว่าฟันผุลึกถึงขั้นต้องรักษารากฟันแล้ว คือ

-มีอาการปวดฟันเป็น ๆ หาย ๆ จนถึงปวดรุนแรง

-เจ็บฟันเวลาเคี้ยวอาหาร

-รู้สึกเสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น

-เหงือกบวมมีตุ่มหนองภายในช่องปากจนบางครั้งทำให้หน้าบวม

-ฟันเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ

ขั้นตอนการรักษารากฟัน 

1.ทันตแพทย์จะเอกซเรย์ดูลักษณะของรากฟันว่ามีกี่ราก มีรอยผุลึกทะลุจนถึงโพรงประสาทฟัน เพราะถ้ารอยฟันผุไม่ลึกอาจรักษาด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันได้ 

2.ฉีดยาชาโดยตรงเข้าไปในบริเวณโพรงประสาทฟัน เริ่มกรอฟันเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน จากนั้นจึงกำจัดเนื้อเยื่อฟันที่อักเสบติดเชื้อออก ร่วมกับการทำความสะอาดรากฟันและใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟัน

3.ใช้วัสดุอุดชั่วคราวอุดคลองรากฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยปกติแพทย์จะนัดรักษารากฟัน 2-3 ครั้งจนกว่าจะไม่มีการอักเสบบริเวณรากฟันแล้ว

4.ทันตแพทย์จะอุดปิดคลองรากฟันถาวรหรือใส่เดือยฟันและครอบฟัน ขึ้นอยู่กับสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่ การรักษารากฟันทำให้ฟันจริงยังใช้งานได้นานเท่ากับฟันแท้ ขึ้นอยู่กับการดูแลไม่ให้เกิดฟันผุและติดเชื้ออักเสบซ้ำอีก

คำแนะนำระหว่างการรักษารากฟัน

หลังจากเริ่มรักษารากฟันในระยะ 1-3 วันแรกจะมีอาการเจ็บปวด รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ ถ้าไม่หายและปวดมากขึ้นควรกลับมาพบทันตแพทย์ ระมัดระวังไม่เคี้ยวอาหารด้านที่รักษารากฟัน ไม่ใช้ฟันกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนและเกิดการอักเสบ หากวัสดุอุดฟันชั่วคราวหลุดออกมาระหว่างรักษารากฟัน ควรรีบมาพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันใหม่ทันทีป้องกันไม่ให้เชื้อโรคสู่รากฟันทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบซ้ำอีก

ข้อดีของการรักษารากฟัน

การรักษารากฟันเป็นการบูรณะฟันเดิมให้ใช้งานได้ต่อไป ไม่ต้องถอนฟันแท้ออก เป็นทางเลือกที่ดีเพราะฟันจริงใช้งานได้มั่นคง การเคี้ยวอาหารให้ความรู้สึกดีกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าฟันปลอม วิธีการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากง่ายกว่าฟันปลอม หากต้องถอนฟันแท้ออกไปอาจมีผลกระทบทำให้โหนกแก้มยุบลงและรูปใบหน้าเปลี่ยนไป ฟันที่อักเสบจำเป็นต้องรักษา ควรนัดหมายกับแพทย์เพื่อทำการรักษาฟันตั้งแต่ยังไม่มีอาการปวดทรมานหรือเสียหายเกินเยียวยาจนต้องถอนฟันแท้ออกไป