การดูแลสุขอนามัยช่องปากของเด็ก

ดูแลสุขอนามัยในช่องปากของเด็ก

ปัญหาสุขภาพช่องปากถือเป็นปัญหาสำคัญของเด็ก ๆ ในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเหงือก ปัญหาฟันผุ ฟันเอียง ฟันโยก มีกลิ่นปากและอื่น ๆ อีกมากมาย

สิ่งที่ดีที่สุดคือเราควรดูแลและใส่ใจกับสุขภาพอนามัยให้แก่เด็กอย่างเป็นประจำและสอนให้เด็กมีวินัยในการป้องกันดูแลรักษาฟันและช่องปาก เพื่อป้องกันปัญหาในช่องปากอื่นที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

เช่นนั้นเราจะพาทุกคนไปพบกับการดูแลสุขอนามัยช่องปากของเด็กที่ถูกต้องและมีความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย บอกเลยว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนไม่ควรพลาด

วิธีการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน

  • สำหรับเด็กอายุ 0 – 6 เดือน วิธีการดูแลความสะอาดช่องปากที่ควรทำคือ การนำผ้าสะอาดที่มีความนุ่มชุบน้ำพอเปียกหมาดเช็ดทำความสะอาดบริเวณเหงือกให้ทั่ว เมื่อเช็ดทำความสะอาดเหงือกแล้วให้เช็ดไปที่บริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้มด้วย โดยให้เช็ดทำความสะอาดหลังจากที่ทารกได้ดื่มนม เพื่อเช็ดคราบนมที่อาจตกค้างอยู่ในช่องปาก
  • สำหรับเด็กอายุ 6 – 12 เดือน ให้เลือกใช้ผ้าสะอาดพันไปที่บริเวณนิ้วมือเพื่อทำความสะอาดบริเวณเหงือกและบริเวณฟันของเด็กให้ทั่ว ในส่วนนี้ควรที่จะให้แรงอย่างเหมาะสม ไม่ถูหรือออกแรงมากจนเกินไป เมื่อขนาดของฟันมีขนาดใหญ่ขึ้นสามารถเปลี่ยนมาใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มเป็นพิเศษเหมาะกับเด็กในวัยนี้ โดยให้ใช้ร่วมกับยาสีฟันเล็กน้อยขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว 
  • สำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี เมื่อเด็กอยู่ในวัยนี้คุณพ่อ คุณแม่สามารถที่จะเริ่มสอนลูกให้รู้จักการบ้วนน้ำ การจับแปรงสีฟัน การใช้แปรงสีฟันในการแปรงฟัน โดยผู้ปกครองต้องเริ่มต้นสอนการแปรงฟันที่ถูกต้องให้กับลูกน้อยก่อน โดยลองแปรงฟันให้เด็กก่อนแล้วจึงค่อยปรับให้เด็กเริ่มแปรงฟันด้วยตนเอง เช็กความเรียบร้อยว่าเด็กสามารถที่จะแปรงฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ปริมาณยาสีฟันที่ใช้คือเท่ากับเมล็ดข้าวโพด แปรงทุกครั้งหลังมื้ออาหารหรือวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน
  • สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้การแปรงฟันที่ถูกต้องในลักษณะของการแปรงฟันแบบปกติ ควรหมั่นให้เด็กมีการเช็กความเรียบร้อยในการแปรงฟัน คือเมื่อแปรงแล้วไม่มีเศษอาหารติดอยู่ที่บริเวณซอกฟัน ในส่วนของคราบต่าง ๆ ก็ไม่ต้องไม่ติดอยู่ตามซี่ฟัน แปรงลิ้นเพื่อลดกลิ่นปาก ในวัยนี้ผู้ปกครองต้องหมั่นพาเด็กไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัดหมาย เนื่องด้วยเป็นวัยที่สามารถรับประทานอาหาร ขนมได้หลากหลาย มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในช่องปากและฟันตามมาได้ถ้าเราไม่ระมัดระวังในการทำความสะอาดช่องปากและฟันที่เหมาะสม  เห็นได้ชัดว่าวิธีการดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากของเด็กแต่ละช่วงวัยนั้นก็มีความแตกต่างกัน คุณพ่อ คุณแม่จึงจำเป็นต้องปรับตัวและเน้นย้ำให้เด็ก ๆ เห็นถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสุขอนามัยของช่องปากของตนเอง โดยให้มีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย เพียงเท่านี้เด็ก ๆ ก็จะมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดีในอนาคตได้อย่างแน่นอน