การพูดติดอ้าง เกี่ยวข้องกับพันธุรรม หรือไม่

การพูดติดอ้าง เกี่ยวข้องกับพันธุรรม หรือไม่

การพูดติดอ่างเกิดจากจังหวะการพูดผิดปกติ มีอาการพูดติด ๆ ขัด ๆ พูดซ้ำคำขาดเป็นช่วง ๆ อาการติดอ่างมัก

เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ตึงเครียด ส่งผลให้การสนทนาสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ เกิดผลกระทบทางอารมณ์ จิตใจ และขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม

อาการติดอ่างมีลักษณะอย่างไร

ปัญหาพูดติดอ่างสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงวัยกำลังหัดพูดประมาณ 2-6 ปี มีอาการพูดคำเดิมซ้ำ ๆ หลายครั้ง หรือพูดลากคำแบบร่างกายควบคุมไม่ได้ หากเป็นการพูดติดขัดแบบชั่วคราวจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเองใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่จังหวะการพูดติดขัดไม่หายเมื่อเด็กโตขึ้น หรือผู้ใหญ่บางคนต้องไปพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก จากเดิมที่เคยพูดปกติก็พูดตะกุกตะกัก มีคำเอ้อ ๆ อ้า ๆ แทรกเข้ามา เกิดปัญหาติดอ่างในภายหลัง กลายเป็นปมด้อยส่งผลให้ขาดความมั่นใจในการสื่อสารและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

สาเหตุของการพูดติดอ่าง

ปัญหาพูดติดอ่างในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจมาจากสาเหตุต่อไปนี้

  • เกิดจากกล้ามเนื้อ เส้นประสาท ความผิดปกติทางสมองหรือโรคที่เกี่ยวกับสมองบางส่วน 
  • ผู้ที่มีการกระทบเทือนทางจิตใจ มีความเครียด 
  • ผู้ที่มีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติในวัยเด็ก 
  • เรียนรู้วิธีการพูดอย่างผิด ๆ ตั้งแต่เด็ก ถูกผู้ใหญ่เร่งรัดให้พูดตั้งแต่เด็กยังพูดไม่ชัด ทำให้เด็กไม่มั่นใจ ไม่กล้าพูด และพูดติดอ่างมากขึ้น
  • คนในครอบครัวพูดติดอ่างก็มีโอกาสพูดติดอ่างตามพันธุกรรมได้เช่นกัน

การพูดติดอ่างเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือไม่

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่การพูดติดอ่างเนื่องจากพันธุกรรมมีความเป็นไปได้ถึง 70% พบว่าเด็กที่พูดติดอ่างมากกว่า 70% จะมีสมาชิกในครอบครัวที่พูดติดอ่างมาก่อน อาการพูดติดอ่างคือการพูดซ้ำคำ พูดไม่คล่องและไม่ทันความคิด ทำให้การพูดขาดความต่อเนื่อง สื่อสารลำบากและรู้สึกหงุดหงิดกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

ช่วงวัย 2-4 ปี เด็กส่วนใหญ่กำลังเริ่มหัดพูด การพูดไม่ชัดเป็นเรื่องธรรมดาและยังตัดสินไม่ได้ว่าลูกพูดติดอ่าง หรือแค่พูดไม่คล่องแคล่วทำให้พูดไม่ชัดกันแน่ ในช่วงวัยนี้หากเด็กถูกล้อเลียนจะยิ่งขาดความมั่นใจและขี้อายไม่กล้าพูด พ่อแม่จึงไม่ควรเปรียบเทียบการพูดของลูกกับเด็กคนอื่น ยิ่งถ้าไม่ใส่ใจฝึกฝนการพูดให้ด้วย เด็กก็จะพูดไม่คล่องแคล่วและหันไปใช้ท่าทางแสดงออกแทนคำพูด ทำให้อาการติดอ่างแย่ลง 

บำบัดทางจิตและฝึกพูดบ่อย ๆ 

โดยปกติแล้วอาการติดอ่างไม่มียารักษาโรค แต่ต้องใช้วิธีการบำบัดทางจิตพูดคุยปรับเปลี่ยนความคิด ร่วมกับการปรับพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหาและการผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและมั่นใจมากขึ้น คอยฝึกฝนให้เด็กที่ยังพูดไม่คล่องไม่ต้องรีบพูด ปล่อยให้เด็กค่อย ๆ คิดรวบรวมคำพูดก่อนจะพูดออกมาเสมอ

เคล็ดลับสำคัญคือพ่อแม่ต้องใจเย็น ๆ ไม่ควรจ้องจับผิดเด็ก ไม่แสดงท่าทีรำคาญ หรือหงุดหงิดที่เด็กพูดช้า ไม่กดดันหรือยัดเยียดสอนให้เด็กพูดมากเกินไป เด็กเล็ก ๆ คิดช้า พูดช้า ควรปล่อยให้เด็กค่อย ๆ เรียนรู้ด้วยความรู้สึกผ่อนคลายระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไปด้วยกัน ช่วยให้เด็กสบายใจที่จะหัดพูดอย่างค่อยเป็นค่อยไป พยายามพูดคุยกับลูกช้า ๆ ชัด ๆ เริ่มจากคำสั้น ๆ ทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปจนมีความมั่นใจ 

อาการติดอ่างที่เป็นความผิดปกติเกิดจากความไม่มั่นใจ ลังเลที่จะพูด บางรายกังวลมากจนรู้สึกเครียด วิตกวังกลว่าตนเองจะพูดผิด หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจลำบาก และพูดไม่คล่องพูดไม่ออกเป็นช่วง ๆ ผู้ใหญ่ควรเอาใจใส่ช่วยฝึกให้เด็กฝึกพูดไปเรื่อย ๆ เน้นให้พูดช้า ๆ ชัด ๆ พร้อมกับฝึกผ่อนคลายอารมณ์ไม่ให้เครียดอย่างเช่นหัดร้องเพลงหน้ากระจก เมื่อเด็กโตขึ้นจนมีพัฒนาการด้านภาษาดีขึ้นแล้ว อาการพูดติดอ่างจะหายไปได้เอง พูดได้คล่องและชัดในที่สุด