การถ่ายทอดลักษณะ ทางพันธุกรรม

ไมเกรนอันตรายไหม

ปวดหัวไมเกรนบ่อยมากจะเป็นอันตรายไหม? คำถามที่ผู้ป่วยมักจะสงสัยทุกครั้งที่ไมเกรนขึ้น เพราะความปวดนั้น

รุนแรงจนไม่สามารถทำงานได้และอาการของไมเกรนที่หายไปแล้วในครั้งหนึ่งจะกลับมาเป็นซ้ำอีกอยู่เรื่อย ๆ บางคนเป็นบ่อยถึงเดือนละ 2 ครั้ง

ผลกระทบที่น่ากังวลจึงน่าจะเป็นเรื่องของการขาดงานบ่อย ๆ และการดำเนินชีวิตที่ไม่ค่อยจะราบรื่นเวลาไมเกรนถามหา นอกจากนี้ยังมีผลกระทบที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งก็คืออันตรายจากการใช้ยา ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยไมเกรนมักซื้อยาพาราแก้ปวดทาน เมื่อทานแล้วไม่หายก็จะเพิ่มขนาดยาขึ้นไปอีก การซื้อยาแก้ปวดทานเองไม่ได้ช่วยรักษาไมเกรนอย่างสัมฤทธิ์ผล แต่กลับจะมีปัญหาสุขภาพอย่างอื่นตามมา จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

ปวดหัวไมเกรนเฉียบพลัน 

บางครั้งไมเกรนก็มาอย่างปัจจุบันทันด่วน จู่ ๆ ก็ปวดหัวขึ้นมาอย่างรุนแรง สาเหตุคือความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมอง แต่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่นานเป็นอยู่สักพักแล้วหายไปและถ้ามีความผิดปกติในสมองเกิดขึ้นอีกอาการปวดก็จะกลับมาอีก เรียกว่าไมเกรนเฉียบพลัน

อะไรทำให้ปวดหัวได้รวดเร็วขนาดนั้น

อาการปวดหัวฉับพลันราวกับไม่มีสาเหตุนั้น จริง ๆ แล้วเกิดจากเปปไทด์หรือสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดไมเกรนซึ่งมีชื่อว่า Calcitonin Gene Related Peptide หรือ CGRP ในทางการแพทย์พบว่า ขณะไมเกรนขึ้นสารชนิดนี้ที่อยู่ในเลือดของคนเราจะสูงกว่าปกติ การที่มีสาร CGRP หลั่งออกมามากจะส่งผลให้เส้นเลือดขยายตัวและส่งผลต่อเส้นประสาทที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด 

ไมเกรนอย่าเป็นเลยจะดีกว่า  

ทางที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงจากอาการปวดศีรษะรุนแรงของไมเกรนด้วยการสกัดกั้นสารเปปไทด์ CGRP ไม่ให้หลั่งออกมามากเกินไป การหลั่งสารเปปไทด์ที่มากผิดปกตินั้นมีสาเหตุมาจากแรงกระตุ้นสำคัญสองทางคือ แรงกระตุ้นจากภายนอก และแรงกระตุ้นภายในร่างกายของคนเราเอง

  • แรงกระตุ้นจากภายนอก

ผู้ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เครียด เช่น การทำงานหนัก สถานะทางการเงินไม่ดี สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ จะมีโอกาสเป็นไมเกรนได้บ่อยครั้ง หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่กดดันตัวเรา 

  • แรงกระตุ้นภายในร่างกาย

มีทั้งที่เกิดจากระบบภายในของเรา เช่น ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นว่าผู้หญิงเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือน นอกจากนี้ยังมีแรงกระตุ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ได้แก่ นอนดึก อดนอน การรับประทานอาหารแปรรูปมากเกินไป ทานอาหารไม่ตรงเวลาทำให้น้ำตาลในร่างกายต่ำ การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนสูง

รักษาอย่างไรให้ถูกทาง

หากเป็นไมเกรนควรใช้ยาตามแพทย์สั่ง ถ้าอาการไม่มากแพทย์จะให้ทานยาแก้ปวดธรรมดา แต่ถ้าเป็นมากจะได้รับยาที่แตกต่างกันไปตามสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ยาในกลุ่มลดความดัน กลุ่มยากันชัก กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ไม่ใช่ยาที่จะใช้รักษาไมเกรนให้หายขาดถาวรเป็นแค่เพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น ข้อสำคัญก็คือหากปวดศีรษะบ่อยครั้งมาก ๆ อย่าหายาแก้ปวดทานเองจนเป็นความเคยชิน เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด งดแรงกระตุ้นที่กล่าวไว้ข้างต้น วิธีธรรมชาติบำบัดคือการดูแลตัวเองที่ดีที่สุด