กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ค้นพบ “ไวรัสซอมบี้” ที่ถูกแช่แข็งในชั้นดินที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งนานหลายหมื่นปีในเขต
ไซบีเรีย ไวรัสยุคโบราณฟื้นคืนชีพขึ้นมาและยังแพร่เชื้อได้ แม้ยังไม่ส่อเป็นอันตรายในปัจจุบัน แต่อาจเป็นต้นกำเนิดของภัยร้ายต่อโลกในอนาคต ซึ่งเรื่องราวการแพร่ระบาดของไวรัสซอมบี้ คล้ายกับนิยายวิทยาศาสตร์เป็นความจริงแล้วเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นในเร็ววัน
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติได้เขียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “bioRxiv” อธิบายถึงการศึกษาไวรัสยุคโบราณที่หลับใหลในน้ำแข็งเพอร์มาฟรอสต์ (Permafrost) ซึ่งเป็นชั้นดินที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง แต่ผลกระทบของภาวะโลกร้อนทางซีกโลกตอนเหนือทำให้อุณหภูมิอุ่นขึ้น ชั้นดินเยือกแข็งด้านบนกำลังละลาย เชื้อไวรัสบริเวณทะเลสาบใต้ดินของไซบีเรียซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นดินหลายร้อยเมตรได้แพร่กระจายออกมา
เมื่อชั้นดินเยือกแข็งเหล่านี้ละลายลง จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
-ชั้นดินเยือกแข็งด้านบนกำลังละลายจากภาวะโลกร้อน เชื้อไวรัสบริเวณทะเลสาบใต้ดินของไซบีเรียซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นดินหลายร้อยเมตรจึงแพร่กระจายออกมา แสดงว่าภาวะโลกร้อนอาจเป็นตัวเร่งโอกาสการติดเชื้อไวรัสซอมบี้สู่คนได้เหมือนกัน
-นักวิทยาศาสตร์ได้เก็บตัวอย่างชั้นดินเยือกแข็งมาจาก 7 พื้นที่ในเขตไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ก่อนจะพบว่าชั้นดินเยือกแข็งคงตัวนี้กักเก็บไวรัสใหม่ไว้ถึง 13 ชนิด ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ถูกขังอยู่ในน้ำแข็งที่มีอายุตั้งแต่ 27,000-48,500 ปี ถือว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบมา ทำให้เห็นถึงความเสี่ยงของการระบาดของไวรัสซอมบี้ที่มีโอกาสหลุดออกมาจากการละลายของชั้นน้ำแข็งขั้วโลกจากสภาวะโลกร้อน
-เมื่อทำการทดสอบการติดเชื้อโดยแยกไวรัสที่ถูกค้นพบนำมาใส่ในเซลล์ของอะมีบาที่เพาะเลี้ยงไว้ ทำให้เซลล์อะมีบาเกิดการติดเชื้อไวรัสได้ สถานการณ์ชี้ให้เห็นว่า ถ้าไวรัสอะมีบายังมีชีวิตอยู่ได้ ไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่จำศีลก็มีชีวิตอยู่ได้และจะแพร่เชื้อต่อไปได้ ซึ่งอาจติดเชื้อกับมนุษย์ได้เช่นกัน
-ข่าวไวรัสซอมบี้จุดกระแสความกังวลว่าโลกร้อนอาจเป็นอันตรายระบบนิเวศ สุขภาพสัตว์ และทำให้มนุษย์ต้องเจอโรคร้ายจากเชื้อไวรัสโบราณที่หลุดมาจากชั้นน้ำแข็ง
ชั้นดินเยือกแข็งเป็นสถานที่เยือกเย็น ไม่มีออกซิเจน และมืดมิดแสงแดดส่องไม่ถึง นับเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับจำศีลของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียทำให้มีชีวิตอยู่ได้นานหลายล้านปี หลังนักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสโบราณยังแพร่เชื้อได้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จึงขนานนามให้ว่า “‘ซอมบี้ไวรัส” มีความเป็นไปได้ว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้น้ำแข็งเพอร์มาฟรอสต์ละลายมากขึ้นเรื่อย ๆ และปล่อยไวรัสอื่น ๆ ออกมามากมาย กลายเป็นภัยร้ายแพร่เชื้อต่อมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ จนสร้างปัญหาทางสุขภาพในอนาคต
นักชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเอกซ์-มาร์แซลล์ของฝรั่งเศส เปิดเผยถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโบราณในวารสาร Viruses โดยอธิบายว่า
-ดินตัวอย่างในน้ำแข็งเพอร์มาฟรอสต์ในไซบีเรียมีเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอายุ 48,500 ปีที่กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาและยังเป็นไวรัสซอมบี้ที่แพร่เชื้อได้อยู่ ในเวลาเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบไวรัสโบราณอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งได้จากซากช้างแมมมอธขนยาวอายุ 27,000 ปี ซึ่งจัดเป็นไวรัสที่มีอายุน้อยที่สุดในการทดสอบครั้งนี้ด้วย
-สถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าไวรัสอะมีบายังมีชีวิตอยู่ได้ ไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่จำศีลก็มีชีวิตอยู่ได้และจะแพร่เชื้อต่อไปได้ เหมือนเป็นไวรัสซอมบี้ที่หลับใหลรอการฟื้นคืนชีพในอนาคต
โลกของเราควรตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายจากเชื้อโรคโบราณที่อาจโจมตีร่างกายมนุษย์ได้ แม้ปัจจุบันยังไม่พบเชื้อไวรัสซอมบี้ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ แต่ถ้าโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสจะซอมบี้จะถูกปลุกขึ้นมา และในอนาคตประชากรที่อาศัยอยู่ในแถบอาร์กติกก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสซอมบี้จากอดีตได้เช่นกัน