ภาวะมดลูกต่ำหรือมดลูกหย่อนเป็นโรคที่พบในผู้หญิงและพบมากในวัยกลางคน โดยมีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะมดลูกต่ำ
แม้กระทั่งอาการท้องผูกบ่อย ๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนี้ได้ คำถามคือจะรู้ได้อย่างไรว่ามดลูกต่ำ เราหาคำตอบมาให้แล้ว
มดลูกต่ำหรือมดลูกหย่อนคืออะไร
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักภาวะมดลูกต่ำหรือภาวะมดลูกหย่อนหมายถึงมดลูกเคลื่อนตัวลงมาต่ำกว่าตำแหน่งปกติภายในอุ้งเชิงกราน เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน
-อายุมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่รองรับอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานหย่อนยานเสื่อมสภาพ
-การคลอดบุตร โดยเฉพาะแม่ที่คลอดลำบาก ทารกตัวใหญ่มาก คลอดลูกหลายคนต่อเนื่องหรือคลอดลูกแฝด มักประสบภาวะมดลูกต่ำเนื่องจากเนื้อเยื่อที่พยุงช่องคลอดอ่อนแอและอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนยาน
-อายุเข้าวัยทอง อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน ทำให้สูญเสียมวลเนื้อเยื่อและฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง เป็นเหตุให้เนื้อเยื่อที่พยุงอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง
-การมีเพศสัมพันธ์บ่อย
-ท้องผูกบ่อย มักจะเบ่งอุจจาระแรง ๆ เป็นเวลานาน
-น้ำหนักตัวมากเกินไปซึ่งไปเพิ่มแรงกดบริเวณอุ้งเชิงกราน หากควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะลดความเสี่ยงภาวะมดลูกต่ำในภายหลัง
-มีเนื้องอกในมดลูกหรือเกิดซีสต์ที่รังไข่ ทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานถูกถ่วงให้ตึง เกิดรู้สึกหน่วงและปวด
-การยกของหนักมากเกินไป ยกของหนักเป็นเวลานานทำให้มีการเกร็งหน้าท้องมาก ส่งผลต่ออวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานทำให้มดลูกเคลื่อนต่ำได้
-โรคประจำตัว เช่น โรคหอบหรือโรคไอเรื้อรัง ทำให้เกิดภาวะมดลูกต่ำ
สังเกตอาการที่บ่งชี้ภาวะมดลูกต่ำ
ผู้หญิงที่ป่วยด้วยภาวะมดลูกต่ำมักจะมีอวัยวะต่าง ๆ หย่อนลงมาด้วยทำให้เกิดปัญหาสุขภาพแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นและสังเกตอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้
-อาการเริ่มต้นเมื่อมดลูกหย่อนมาที่ช่องคลอดครึ่งหนึ่ง หากสังเกตพบอาการผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงที่ยังเป็นน้อย ๆ สามารถรักษาได้ด้วยตัวเองโดยวิธีการฝึกขมิบช่องคลอดบ่อย ๆ ประมาณวันละ 80-100 ครั้งเพื่อให้อุ้งเชิงกรานกระชับขึ้นได้อีกครั้ง
-ภาวะมดลูกหย่อนมาใกล้ปากช่องคลอด รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่บริเวณปากช่องคลอด ส่งผลให้ปวดหน่วง ๆ ในช่องคลอดหรือบริเวณหลังส่วนล่าง ปวดปัสสาวะบ่อย ท้องผูกบ่อย ถ่ายอุจจาระลำบาก ตกขาวมากขึ้นและมีเลือดปน รู้สึกไม่สบายเมื่อมีเพศสัมพันธ์
-ถ้าเป็นภาวะมดลูกหย่อนมานานถึงขั้นรุนแรงจะรู้สึกว่ามีส่วนของมดลูกเป็นก้อนยื่นออกมาภายนอกช่องคลอด หากอาการข้างต้นไม่ทุเลา ควรรักษาด้วยการผ่าตัดทำรีแพร์ให้มดลูกกลับมากระชับขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายและระบบสืบพันธุ์ด้วย
อาการภาวะมดลูกต่ำที่เกิดจากอวัยวะอื่นหย่อนลงมาด้วย ได้แก่
-กระเพาะปัสสาวะหย่อน ทำให้ผนังมดลูกเคลื่อนต่ำ มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รู้สึกปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
-ลำไส้ส่วนบนหรือลำไส้เล็กหย่อน ทำให้ผนังมดลูกด้านบนส่วนหลังเคลื่อนต่ำ มีอาการปวดหลังตอนยืน เดินไม่สะดวก และอาการปวดจะทุเลาตอนนอนราบ
-ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหย่อน ทำให้ผนังมดลูกด้านล่างส่วนหลังเกิดเคลื่อนต่ำ มีอาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก
ภาวะมดลูกต่ำส่วนใหญ่มีอาการคล้ายปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งยากที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าป่วยแล้ว หากมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้นและพบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรค ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทำการวินิจฉัยว่าภาวะมดลูกต่ำมีความรุนแรงมากหรือน้อยและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง ยิ่งรู้เร็วทำให้การรักษาเป็นไปได้ง่ายและมีโอกาสหายขาด