ช่วงการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่คนใหม่ต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องอาหารการกิน การพักผ่อน และการดูแลสุขภาพ เพราะสิ่งเหล่านี้
ล้วนแล้วแต่จะมีผลต่อเนื่องไปถึงลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ตลอดระยะเวลา 35 – 40 สัปดาห์
ครรภ์เป็นพิษหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่มือใหม่
แม้จะดูแลตัวเองอย่างดีแต่ก็ยังมีหลายปัญหาที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือปัญหาครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมีรายงานว่าในบรรดาคุณแม่ตั้งครรภ์ 100 คน จะพบปัญหาครรภ์เป็นพิษได้ 4 คน อาการส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง แต่กระนั้นจากสถิติทั่วโลกจะพบว่ามี 10 – 15% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเสียชีวิตจากปัญหาครรภ์เป็นพิษ
โดยทั่วไปแล้วพบว่า ปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป หรือเป็นคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี มีโรคอ้วนหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง อาทิ ความดัน และเบาหวาน รวมถึงมีคนในครอบครัวเกิดปัญหาครรภ์เป็นพิษ มีบุตรยาก ตั้งครรภ์ครั้งแรก หรือตั้งครรภ์แฝด
เมื่อเกิดปัญหาครรภ์เป็นพิษแล้วแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาจากอายุครรภ์เป็นหลัก ถ้าอายุครรภ์น้อยเกินไปแพทย์จะให้ยากระตุ้นปอดเพื่อให้ปอดของลูกทำงานได้เร็วขึ้น พร้อมประเมินแนวทางประคับประคองให้ลูกอยู่ในครรภ์แม่ได้นานที่สุดอย่างปลอดภัย หรืออาจใช้วิธีเร่งคลอดให้เร็วขึ้นหากอายุครรภ์มากเพียงพอแล้ว ซึ่งกรณีที่ทารกต้องคลอดก่อนครบกำหนดจากปัญหาครรภ์เป็นพิษนั้นจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์หลังคลอดโดยอาจต้องอยู่ในหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤตจนกว่าจะแข็งแรงเพียงพอ
สาเหตุปัญหา “ครรภ์เป็นพิษ”
สำหรับปัญหาครรภ์เป็นพิษนั้นเกิดจากความผิดปกติในการฝังตัวของรกบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก ซึ่งฝังได้ไม่แน่นทำให้บางส่วนขาดเลือดและออกซิเจนจนทำให้เกิดการหลั่งของสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละน้อย จนกระทั่งถึงจุดที่เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
รู้ได้อย่างไรว่ามีปัญหาครรภ์เป็นพิษ
คุณแม่ตั้งครรภ์นอกจากต้องดูแลตัวเองอย่างพิถีพิถันแล้ว ยังต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ด้วยเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาครรภ์เป็นพิษได้ โดยสัญญาณเตือนถึงความผิดปรกตินี้ ได้แก่ อาการบวมที่มือ เท้า หรือใบหน้า น้ำหนักเพิ่มเร็วกว่าปกติ ปวดหัวอย่างมาก ความดันสูง จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ และพบโปรตีนในปัสสาวะ
การตรวจคัดกรองคุณแม่ตั้งครรภ์ : ทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาครรภ์เป็นพิษได้
โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์จะไม่รู้ตัวว่าเกิดปัญหาครรภ์เป็นพิษจนกระทั่งเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น แต่กระนั้นก็มีวิธีการตรวจประเมินความเสี่ยงการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษด้วยวิธีการวัดการไหลเวียนของเส้นเลือดที่เลี้ยงมดลูก โดยสามารถทำการตรวจประเมินความเสี่ยงได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งการตรวจนี้จะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการดูแลคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ช่วงเวลา 9 เดือน ที่คุณแม่ต้องอุ้มท้องลูกน้อยในครรภ์ ถือเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ที่คุณแม่จะต้องประคบประหงมดูแลตัวเองและลูกน้อยอย่างดี แม้จะมีความเสี่ยงหรือเกิดปัญหาขึ้นแต่หากทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ และวางแผนดูแลได้อย่างเต็มที่ ก็เชื่อมั่นได้ว่าจะไม่ทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์แม้จะมีปัญหา “ครรภ์เป็นพิษ” ก็ตาม