โรคลมชักในผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่

โรคลมชักในผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่

ร่างกายของผู้สูงอายุจะมีความเสื่อมสภาพของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดโรคบางชนิด โดยเฉพาะ

โรคลมชักที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากถามว่าโรคลมชักในผู้สูงอายุนี้มีความอันตรายมากน้อยเพียงใด ต้องตอบว่า “มีโอกาสอันตรายถึงชีวิต” แต่ผู้อยู่ใกล้ชิดสามารถรับมือได้ หากรู้เท่าทันอาการและมีสติเพียงพอที่จะแก้ไขให้อาการของโรคทุเลาขึ้น เราทุกคนล้วนต้องถึงวัยชรา ดังนั้นเริ่มต้นทำความเข้าใจกับโรคนี้กันตั้งแต่วันนี้ดีกว่า 

คนแก่ล้ม

ขั้นตอนการรับมือกับโรคลมชักในผู้สูงอายุ ให้ปลอดภัย อาการทุเลาได้เร็ว

การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคลมชัก ผู้ดูแลจะต้องมีความเข้าใจในอาการของโรค ควรมีสติและตระหนักรู้ว่าอาการของโรคสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยโรคลมชักนี้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วด้วยขั้นตอนที่ถูกต้อง จะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะโรคนี้เกิดจากความเสื่อมและความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ อาการชักจึงเกิดขึ้นและมีความรุนแรงที่ไม่เท่ากัน ผู้ดูแลจึงควรเร่งแก้ไขอาการโดยทันทีด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

  • จับตัวผู้ป่วยนอนตะแคง เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการชัก ให้ผู้ดูแลจับตัวผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนตะแคงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก และป้องกันไม่ให้มีเศษอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในปอด
  • ปลดเสื้อผ้าให้หลวม เมื่อจับผู้ป่วยนอนตะแคงแล้ว ให้ปลดเสื้อผ้าของผู้ป่วยให้หลวม เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายและสบายขึ้น รวมไปถึงเคลียร์พื้นที่โดยรอบให้มีความโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ผู้ป่วยจะสามารถหายใจได้อย่างสะดวกขึ้น
  • ห้ามนำวัตถุใด ๆ ใส่เข้าไปในปาก หลายคนเข้าใจว่าเมื่อผู้ป่วยชัก ควรหาวัตถุใส่เข้าไปในปากเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกัดลิ้นตัวเอง การกระทำเช่นนี้เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากเมื่อเกิดอาการชักเกร็ง ผู้ป่วยจะควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมไปถึงบริเวณใบหน้า กราม และช่องปาก เมื่อผู้ดูแลมีความพยายามจะยัดวัตถุเข้าไปในปาก จะทำให้ฟันของผู้ป่วยเจ็บและเสียหาย นอกจากนี้ หากยัดวัตถุเข้าไปได้ วัตถุนั้น ๆ จะปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับอากาศอย่างเต็มที่
  • นำส่งโรงพยาบาล เมื่อสังเกตว่าอาการของผู้ป่วยเริ่มทุเลาลงแล้ว ให้จับตัวผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่สบาย เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวก จากนั้นให้ติดต่อรถโรงพยาบาล หรือรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยโรคลมชักนี้บางรายรักษาหายขาด บางรายไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จำเป็นจะต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อยับยั้งและควบคุมอาการชัก
ผู้หญิง2 คนกำลังเดินอยู่ในสวน

สิ่งที่อันตรายที่สุดเมื่อผู้สูงอายุมีอาการลมชักกำเริบคือ ขาดผู้ดูแลอยู่ด้วยในขณะที่เกิดอาการ เพราะอาการของโรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นการชักในขณะที่อยู่คนเดียว ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะล้มศีรษะฟาดพื้น หรือสำลักอาหารขณะชักได้ จึงไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคลมชักอยู่เพียงลำพัง และผู้ดูแลควรใส่ใจใกล้ชิดและเตรียมพร้อมเสมอสำหรับภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ