ท้องน้อย คือ ช่องท้องส่วนล่างตั้งแต่ใต้สะดือลงไปจนถึงเหนือกระดูกเชิงกราน ในกรณีของสตรีในบริเวณนี้จะรวมไว้ซึ่งอวัยวะสำคัญที่มีโอกาสทำให้ปวดท้องน้อย
ได้แก่ มดลูก ปีกมดลูก กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่ง และยังมีท่อไตรวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยบ่อยๆ อาจส่งส่งสัญญาณถึงความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบลำไส้ และระบบกล้ามเนื้อ
การปวดท้องน้อยในสตรีมี 3 กลุ่ม คือ ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน (Acute pelvic pain), ปวดท้องน้อยเป็นซ้ำ(recurrent pelvic pain) และปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) เป็นต่อเนื่อง 3-6 เดือน ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงของโรคต่างกันไป โรคที่อาจเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง
- โรคที่เกิดในระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ โรคเนื้องอกมดลูก (Myoma) และโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ในขณะมีประจำเดือนจะปวดร้าวหลัง ก้น ขา และปวดท้องน้อยร่วมด้วย เลือดมีลักษณะเป็นลิ่ม หรือก้อน มามากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ฯลฯ, มดลูกหรือปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง สังเกตได้จากตกขาวมีกลิ่นเหม็น และอาจมีไข้สูงร่วมด้วย, ในหญิงที่แต่งงานแล้วอาจมีอาการท้องนอกมดลูก,ช็อคโกแลตซีสต์,ถุงน้ำรังไข่แตก ซึ่งมีอาการคล้ายกับไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นไส้ติ่งอักเสบจะเกิดขึ้นบริเวณท้องน้อยด้านขวา กดเจ็บมาก ปวดบีบตลอดเวลา ฯลฯ
- การอักเสบติดเชื้อ หรือเป็นพังผืดในช่องท้อง ส่วนใหญ่มาจากการปวดท้องน้อยเรื้อรัง มักพบในคนที่เคยผ่าตัดช่องท้อง อาการปวดที่พบมาจากพังผืดไปดึงรั้งลำไส้เล็กหรือรัดลำไส้ และยังมีอาการท้องอืด กินแล้วอาเจียน ท้องผูก ไม่ผายลม ยิ่งไปกว่านั้นพังผืดยังทำให้ลำไส้อุดตันด้วย
- โรคระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ กรวยไตอักเสบเป็นการอักเสบของส่วนต่อระหว่างไตกับท่อไตที่ต่อเนื่องมาจากกระเพาะปัสสาวะจะมีอาการปวดเกร็งเป็นระยะแล้วร้าวมาที่ต้นขา, นิ่วในไตและท่อไต เป็นการตกตะกอนของสารต่างๆ ในปัสสาวะที่สะสมจนกลายเป็นก้อนแข็งลักษณะคล้ายก้อนกรวด ทำให้ผู้ป่วยเกิดการปวดทรมาณมาก,กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นการติดเชื้อต่อเนื่องมาจากท่อปัสสาวะ อาการที่สังเกตได้ สีปัสสาวะจะขุ่น มีเลือดปน เวลาปัสสาวะจะมีอาการแสบ เจ็บ , โรคไตอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ
- โรคที่เกิดในระบบลำไส้ อาการในกลุ่มนี้มักจะมีอาการถ่ายอุจจาระผิดปกติร่วมด้วย เช่น ลำไส้แปรปวน (irritable bowel syndrome),มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจมีผลมาจากการภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง มักคลำพบก้อนในช่องท้องขวาล่าง มีอาการเพลีย ซีด ท้องผูกสลับท้องเสีย มีเลือดปนมากับอุจจาระ ปวดเบ่งเหมือนจะถ่ายตลอดเวลา น้ำหนักลด, เนื้องอกในลำไส้ อาการคือจะพบก้อนในตำแหน่งท้องน้อยด้านซ้าย อาการอื่นๆ จะคล้ายกับมะเร็งลำไส้ใหญ่
การปวดท้องน้อยในสตรีตำแหน่งต่าง ๆ ย่าปล่อยให้การปวดท้องเป็นเรื่องปกติที่ใช้วิธีกินยารักษาอาการปวดเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ เพราะหากปล่อยเรื้อรังอาจต้องเผชิญกับโรคร้ายได้อย่างคาดไม่ถึง พบความผิดปกติใดจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคย่อมดีกว่าละเลย