โรคเส้นเดือดในสมอแตก

โรคเส้นเดือดในสมอแตก

ในขณะที่คนเรายังเดินได้ พูดคุย ไปไหนมาไหนแบบสบาย ๆ เราไม่อาจรู้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น

เมื่อใด แขนขาขยับไม่ได้ พูดไม่ได้แบบฉับพลันทันทีโดยไม่ทันได้ตั้งตัว มีผู้ป่วยบางคนที่นั่งรับประทานอาหารอยู่ดี ๆ จู่ ๆ ก็ช้อนหลุดมือ ส่วนตัวเองก็ค่อย ๆ ฟุบลงและตกจากเก้าอี้หมดสติไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีอาการอะไรมาก่อน นี่เป็นตัวอย่างอาการของโรคหลอดเลือดสมองแตกที่น่ากลัว หลังจากผู้ป่วยหมดสติ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและพาส่งโรงพยาบาลทันที อาจนำไปสู่การเป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้

โรคหลอดเลือดในสมองแตก เกิดได้อย่างไร

  • ภาวะความดันโลหิตสูงจนทำให้หลอดเลือดโป่งพองและแตก 
  • ไขมันในเลือดสูง เมื่อไขมันสะสมมากขึ้นจะทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น เป็นสาเหตุให้เส้นเลือดแตกได้ 
  • เส้นเลือดตีบตันทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ สมองขาดเลือดเฉียบพลัน และเกิดการปริแตกนำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมอง
  • เส้นเลือดเปราะบาง หรือความเสื่อมสภาพของเส้นเลือด

สาเหตุเหล่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับใครก็ได้ แต่จะเกิดมากที่สุดกับผู้สูงวัยเนื่องจากเส้นเลือดในสมองเสื่อมสภาพลงและมีความเปราะบางกว่าคนหนุ่มสาว

อาการเส้นเลือดในสมองแตก

เมื่อเกิดอาการ จะส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายจะทำงานผิดปกติ อาการที่บ่งบอกได้ก็คือ

  • พูดไม่ชัด พูดไม่ได้
  • คิดอะไรไม่ออก ประมวลผลไม่ได้
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • มึนงง เวียนศีรษะ บ้านหมุน
  • อาการแขนขาชา ร่างกายขยับไม่ได้ 
  • เป็นอัมพาตครึ่งซีก

อาการเหล่านี้จะมีระดับความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ที่รุนแรงมากที่สุดคือเสียชีวิต แต่เหตุการณ์นี้จะบรรเทาได้ถ้าผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยควรได้รับการนำส่งโรงพยาบาลและพบแพทย์รักษาอย่างทันท่วงทีภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง 

ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก

โรคนี้จะเกิดขึ้นแบบฉับพลันและตั้งตัวไม่ทัน จึงเป็นโรคที่ทุกคนควรตระหนักโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเลือดต่าง ๆ เช่น ภาวะเลือดข้นผิดปกติ เม็ดเลือดขาวสูงเกินปกติ โรคเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก ส่วนผู้ที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวดังกล่าว ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เพราะความเสี่ยงของโรคยังขึ้นอยู่กับ

  • การดำเนินชีวิตประจำวันที่ต้องทำงานหนักและเครียด
  • การมีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ เพราะเป็นโรคที่เกิดได้จากกรรมพันธุ์
  •  สูบบุหรี่จัด

ใครที่สำรวจตัวเองพบว่ามีความเสี่ยง ควรระมัดระวัง และปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้ห่างไกลจากโรค หากเป็นความดันโลหิตสูงควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และออกกำลังกายเป็นประจำ ลดอาหารไขมันสูงและของหวานให้น้อยลง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและเลิกสูบบุหรี่ 

ผู้ที่มีญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดที่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ควรเตรียมการรับมือเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันสถานการณ์ สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการเกิดขึ้น เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและหาทางรักษาเพื่อฟื้นฟูเซลล์สมองให้เร็วที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป