ไม่อยากติดสื่อโซเชียลมีเดีย ต้องทำอย่างไร?

จะไม่ติดสื่อโซเชียลได้อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสื่อโซเชียลมีเดียมีความสำคัญต่อมนุษย์ยุคนี้มากขนาดที่เปรียบเปรยว่าคือ ปัจจัย 5 ส่วนโทรศัพท์มือถือ คือ อวัยวะที่ 33 ของมนุษย์

ในหนึ่งวันผู้คนท่องโลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งใช้เวลามากกว่าการพักผ่อนของใครบางคนด้วยซ้ำ โดยรายงานของ Global Digital 2019 ของ Hootsuite รายงานว่าสื่อโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ผู้คนเข้าถึงมากที่สุดอันดับ 1 คือ Google อันดับ 2 คือ Youtube และอันดับ 3 คือ Facebook 

ในความเป็นจริงสื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้หากรู้จักใช้ ก็จะส่งผลดีและเกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้อย่างมาก  แต่สำหรับบางคนที่ไม่สามารถจัดสรรเวลาการเล่นได้อย่างเหมาะสมก็อาจส่งผลเสียหลายอย่าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโรคที่เรียกว่า โรคโมโนโฟเบียหรือโรคกลัวการขาดมือถือ

โรคเสพติดโซเชียลหรือโรคกลัวการขาดมือถือ(โรคโมโนโฟเบีย)   ใครที่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้

พอลืมตาตื่นปุ๊บเป็นต้องใช้มือควานหาโทรศัพท์ เช็ก แชร์ แชะหรือ อัพโซเชียลในทันที นอนหลับคาโทรศัพท์บ่อยครั้งหรือวัน ๆจดจ่ออยู่แต่กับการส่งข้อความต่าง ๆ ใช้โทรศัพท์ตลอดเวลาไม่ว่าจะทานข้าว เข้าห้องน้ำก็ต้องเอาโทรศัพท์ไปด้วย  ไม่ว่าบนรถเมล์ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ ระหว่างรอรถประจำทางหรือแม้กระทั่งขับรถก็ใช้โทรศัพท์  วันไหนโทรศัพท์เสีย โทรศัพท์หายหรือแม้กระทั่งลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้านหรือสัญญาณเน็ตไม่ดี วันนั้นก็จะไม่มีความสุขเลย กระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา ใครมีอาการถึงขั้นนี้ คงต้องเช็คตัวเองโดยด่วนว่า อาจจะต้องเป็นโรคเสพติดโซเชียลหรือโรคโมโนโฟเบียเข้าให้แล้ว ซึ่งคงไม่ดีแน่เพราะโรคนี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต อีกทั้งกระบวนการทำงานของสมองด้วย

ในทางการแพทย์ โรคโมโนโฟเบียไม่ใช่โรคแต่เป็นกลุ่มอาการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นซึ่งสามารถรักษาได้เพียงแต่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิต ได้แก่

  • จัดแบ่งเวลาให้เหมาะสมในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียและเวลาการใช้ชีวิต เล่นได้แต่ควรเล่นให้เป็นเวลาและทำอย่างอื่นบ้าง เช่น ดูแลทำความสะอาดบ้าน เข้าครัวทำอาหารเอง อยู่กับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย
  • จัดเขตปลอดโทรศัพท์ เช่น โต๊ะอาหาร  ห้องน้ำ ห้องนอน
  •  ใช้เวลากับคนครอบครัวให้มากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆเช่น ปลูกผักสวนครัว ทำอาหาร  ไปพักผ่อนสุดสัปดาห์ด้วยกัน
  • ให้ชีวิตเป็นอิสระจากมือถือ อาจจะเริ่มจากการให้เวลาตั้งแต่น้อย ๆก่อนและค่อย ๆเพิ่มเวลามากขึ้น เรื่อย ๆจาก 30 นาที เป็น 1 ชม.จนสามารถว่างเว้นจากมือถือได้โดยไม่ได้รู้สึกกระวนกระวายใจอีกเลยหากไม่ได้เล่นมือถือ
  • มีสติในการโพสต์ คิดทุกครั้งที่จะโพสต์ เพราะสิ่งที่โพสต์นำพาสิ่งที่จะตามมาหากเป็นเรื่องราวที่ดีโพสต์ได้ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นเรื่องไม่ดีสิ่งที่โพสต์ไปก็จะส่งผลเสียต่อคนโพสต์ 
  • หากรู้ตัวว่าเป็นโรคติดโซเชียลหรือพยายามแล้วไม่ได้ผลให้ปรึกษาจิตแพทย์  หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 

สื่อโซเชียลเป็นดาบสองคม  หากใช้ในด้านที่ดีก็จะเกิดผลดีแต่หากใช้ในด้านที่ไม่ดี หรือไม่รู้วิธีใช้ก็จะ

เกิดผลเสียมากมายเช่นกัน เพราะฉะนั้นใช้สื่อโซเชียลด้วยความระมัดระวังและจัดสรรเวลาให้พอดี ให้เกิดประโยชน์ต่อเรามากที่สุด