โรค RSV ?

โรค RSV

ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวนั้น หลายคนมักจะเจ็บป่วยได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ภูมิต้านทาน

ของร่างกายยังไม่มากพอ ซึ่งจะมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย หนึ่งในโรคที่พบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กหรือกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ก็คือ โรค RSV หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว 

รู้จักโรค RSV ภัยร้ายที่เป็นอันตรายสำหรับลูกน้อย 

โรค RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เกิดจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เนื่องจากทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดลมเล็กและถุงลม ซึ่งทำให้ร่างกายสร้างเสมหะออกมาเป็นจำนวนมาก และมีการหดตัวของหลอดลม เนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก หอบ เหนื่อย หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ 

อาการของโรค RSV ที่พ่อแม่ต้องรู้ 

สำหรับโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ RSV นั้นหากดูเผิน ๆ จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดโดยทั่วไป นั่นคือจะมีไข้ไม่สูง มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก แต่อาการที่ RSV แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป ซึ่งพ่อแม่ควรสังเกตให้ดีก็คือ ลักษณะการหายใจที่จะเร็วและแรงกว่าปกติ อาการหอบเหนื่อย มีเสียงครืดคราดขณะหายใจ มีเสียงหวีดในปอดซึ่งเกิดจากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว ลักษณะการไอแบบโขลก ๆ หน้าอกบุ๋ม มีเสมหะมาก และอาการตัวเขียว ซึ่งหากมีอาการลักษณะดังกล่าวต้องรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ได้แก่ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะกรณีที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ โรคปอดและภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะทรุดหนักถึงขั้นที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 

การติดต่อของโรค RSV และแนวทางการรักษา 

สำหรับไวรัส RSV นี้สามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 5 วัน ซึ่งในช่วงประมาณ 2 – 4 วันแรก จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดคือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล หลังจากนั้นทางเดินหายใจส่วนล่างจะเกิดการอักเสบ ตามมาด้วยอาการปอดบวมหรือปอดอักเสบ ซึ่งในกรณีที่มีไข้สูงมาก ไอหนัก หายใจหอบจนชายโครงบุ๋มหรือมีเสียงหวีด ทานอาหารหรือทานนมได้น้อย ซึมลง ปากซึดเขียว จะมีโอกาสเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ 

สำหรับไวรัส RSV นี้ยังไม่มียาสำหรับรักษาโดยตรง แพทย์จะใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ การพ่นยาขยายหลอดลม และให้ออกซิเจน โดยจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ที่สำคัญคือไวรัส RSV อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายมีความอ่อนแอ 

จะป้องกันโรค RSV ให้กับลูกน้อยได้อย่างไร ? 

เนื่องจากไวรัส RSV สามารถติดต่อกันได้ผ่านสารคัดหลั่ง ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หมั่นล้างมือทำความสะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมถึงทำความสะอาดของเล่นต่าง ๆ อยู่เสมอ สวมใส่หน้ากากอนามัย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย และหากเด็กป่วยเป็นไวรัส RSV ต้องแยกออกไม่ให้ใกล้ชิดกับเด็กอื่น ๆ หรือต้องให้หยุดเรียนอยู่บ้านจนกว่าจะหายดีก่อน ทั้งนี้พ่อแม่ยังต้องระมัดระวังกรณีลูกน้อยถูกสัมผัสหรือหอมแก้มจากผู้ใหญ่ ซึ่งบางครั้งการสัมผัสด้วยความเอ็นดูก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค RSV กับลูกน้อยได้