โรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก เกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคติดเชื้อที่ระบบทางเดิน ปัสสาวะเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร

เด็กตัวร้อน ร้องไห้โยเย บางทีอาจไม่ใช่แค่เป็นไข้ธรรมดา โรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้และทำให้เด็กมีไข้สูงก็คือโรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งนอกจาก

จะเป็นไข้ตัวร้อนแล้ว เด็กจะปัสสาวะบ่อยแต่ปัสสาวะน้อยและมีกลิ่นเหม็น และถ้าเห็นว่าปัสสาวะมีสีออกแดงหรือเหลืองเข้ม มีความขุ่น ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที เด็กบางคนอาจมีอาการถ่ายเหลว อาเจียน และไม่ยอมรับประทานอาหาร ทุก ๆ อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าเด็กกำลังเป็นโรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ 

โรคนี้เกิดขึ้นกับเด็กได้อย่างไร

เกิดได้เมื่อมีเชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายผ่านทางอวัยวะเพศ โดยในแต่ละช่วงวัยของเด็กมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น

  • โรคนี้จะเกิดบ่อยที่สุดกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
  • กลุ่มของเด็กที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 1 – 4 ปี โรคนี้จะเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง 
  • ในกลุ่มเด็กอายุมากกว่า 4 ปี โรคนี้จะเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 

สาเหตุของการเกิดโรค

  • ความผิดปกติตั้งแต่เกิด โดยมีปัญหาโครงสร้างของระบบทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับพร้อมกับนำเชื้อจุลินทรีย์ติดเข้าไปด้วย หรืออาจมีความผิดปกติที่กรวยไต ระบบประสาท กระเพาะปัสสาวะ 
  • ความผิดปกติจากพฤติกรรมของเด็ก เช่น ชอบกลั้นปัสสาวะ
  • ขาดสุขอนามัยที่ดี เช่น การดูแลรักษาความสะอาดอวัยวะเพศไม่ถูกวิธี

จาก 3 ข้อนี้ สาเหตุข้อแรกไม่สามารถปรับแก้ไขได้ด้วยตัวของเด็กเองหรือผู้ปกครอง ต้องพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา แต่สาเหตุที่ 2 และ 3 สามารถแก้ไขได้โดยผู้ปกครองควรทำวิธีต่อไปนี้

  • ฝึกนิสัยในการขับถ่ายของเด็กไม่ให้กลั้นปัสสาวะและพยายามให้เด็กปัสสาวะเป็นเวลา
  • ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ ในแต่ละวัน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว
  • สอนให้เด็กรู้จักท่าทางที่ถูกต้องในการปัสสาวะและการขับถ่าย
  • ผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลสุขอนามัยของเด็ก 
  • สอนให้เด็กรู้จักวิธีทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง นอกจากการล้างด้วยน้ำสะอาดควรสอนให้หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ล้างอวัยวะเพศเพราะจะทำให้ระคายเคือง และหัดให้เด็กใช้ทิชชูเช็ดทำความสะอาดอย่างถูกวิธีคือเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
  • เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมให้เด็ก กางเกงที่ใส่จะต้องไม่รัดแน่น

การรักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก

กรณีที่อาการไม่รุนแรง 

รักษาด้วยการรับประทานยาหรือฉีดยาฆ่าเชื้อร่วมกับยาแก้ไข้โดยแพทย์เป็นผู้สั่ง คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยดูแลการรับประทานยาของลูกให้ครบตามโดสและให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ พาเด็กเข้าห้องน้ำปัสสาวะบ่อย ๆ  ถ้าเป็นเด็กเล็กเมื่อดื่มน้ำมากจะปัสสาวะออกมาเอง เชื้อจุลินทรีย์ตัวการของโรคจะถูกขับออกมาด้วย 

กรณีที่อาการรุนแรง

หากอาการหนักถึงขั้นอาเจียน ถ่ายท้อง ไม่รับประทานอาหาร แพทย์จะสั่งแอดมิดให้เด็กเข้ารับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำเพื่อยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์โดยเร็ว 

สำหรับเด็กที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะหลังจากให้ยาฆ่าเชื้อจนหายดีแล้ว แพทย์ผู้ดูแลจะต้องทำอัลตราซาวด์ให้เด็กเพื่อตรวจดูภายในอย่างละเอียดอีกครั้งและรับการรักษาต่อให้หายขาด ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใส่ใจสุขภาพเด็กตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นเด็กจะกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีกอย่างแน่นอน