ปัจจุบันต้องยอมรับว่าโรคซึมเศร้า หรือ Major depressive disorder ได้กลายเป็นเรื่องที่หน่วยงานด้านสุขภาพให้ความสำคัญ เพราะจากรายงานของ
กรมสุขภาพจิตในปี 2565 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 1.5 ล้านคน อย่างไรก็ตามมีเพียง 2.8% เท่านั้นที่ได้รับการรักษา จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคซึมเศร้ามากกว่า 4,000 คน โดยสาเหตุที่ผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งไม่ได้รับการรักษานั้นไม่ใช่ขาดแคลนยาหรือจิตแพทย์ แต่ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยังมีอคติกับการไปพบจิตแพทย์ อีกทั้งยังเข้าใจว่าความผิดปกติทางอารมณ์จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันนั้นเป็นการเกิดจากความเครียดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นชั่วขณะ เมื่อเวลาผ่านไปสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยา ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีสาเหตุหลักมาจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด ได้แก่ เซโรโทนิน (Serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดปามีน (Dopamine) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการประเมินความรุนแรงของโรคและรักษาด้วยยาต้านเศร้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับยาต้านเศร้าที่ใช้ในการรักษาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI หรือ Serotonin-specific reuptake inhibitor เป็นยาต้านเศร้าขนานแรกที่จิตแพทย์นิยมสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยซึมเศร้า เพราะเป็นกลุ่มที่มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงด้วย สำหรับยาต้านเศร้ากลุ่มนี้มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนิน เมื่อเกิดความสมดุลจะทำให้อารมณ์ปรับไปทางบวกมากขึ้น นอกจากนั้นร่างกายยังสามารถเปลี่ยนสารเซโรโทนินไปเป็นสารเมลาโทนินที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมวงจรการหลับตื่น ทำให้นอนหลับสบายและพักผ่อนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
ยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOI หรือ Monoamine oxidase inhibitors เป็นยาต้านเศร้าที่มีการใช้งานกันมาตั้งแต่ปี 1950 มีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส (Monoamine oxidase) ที่ทำลายสารสื่อประสาท ซึ่งเมื่อเอนไซม์ชนิดนี้ถูกยับยั้งจะช่วยให้สารสำคัญในสมองทั้ง 3 ชนิด กลับมาอยู่ในระดับสมดุลจะช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าได้ สำหรับการใช้งานปัจจุบันมีการใช้น้อยลงและไม่นิยมใช้ในขั้นแรก แต่จะใช้ร่วมกับภาวะอื่นหรือเมื่อใช้ยาต้านเศร้ากลุ่มอื่นไม่ได้ผล อย่างยาเซเลกิลีนใช้รักษาโรคซึมเศร้าและโรคพาร์กินสัน หรือยาเมทิลีนบลูใช้รักษาโรคซึมเศร้าและภาวะเมทฮีโมโกลบินีเมีย ทั้งนี้เพราะยากลุ่มนี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียง
ยาต้านเศร้ากลุ่ม TCAs หรือ Tricyclic antidepressants เป็นยาต้านเศร้าที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินและโดปามีน สำหรับโดปามีนเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยทำให้รู้สึกมีสมาธิ ตื่นตัว กระฉับกระเฉง รับรู้ต่อสิ่งกระตุ้น และเกี่ยวข้องกับความรู้สึกพอใจอีกด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากยาต้านเศร้าในกลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยจึงไม่นิยมใช้รักษาในขั้นแรก แต่จะใช้รักษาผู้ป่วยซึมเศร้าที่ไม่สามารถรักษาด้วยยากลุ่มอื่น กลุ่มผู้ป่วยดื้อยาต้านเศร้า หรือในการรักษาเมื่อมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างยาอะมิทริปไทลีนที่มีอาการซึมเศร้ารวมกับอาการปวดปลายประสาทจากโรคงูสวัด หรือยาด็อกเซปินที่ใช้รักษาทั้งโรคซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล
จากข้อมูลเกี่ยวกับยาต้านเศร้าทั้ง 3 กลุ่ม จะเห็นได้ว่าการรับประทานยาต้านเศร้านั้นมีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลสารเคมีทางสมอง ทำให้กระบวนการสื่อประสาทในสมองปกติ แต่ด้วยยาต้านเศร้าจะออกฤทธิ์ช้าจึงต้องรับประทานต่อเนื่องและถึงแม้ว่าอารมณ์จะกลับสู่ภาวะปกติแล้วส่วนใหญ่จิตแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน