บางคนอกหักเรื่องรัก บางคนผิดหวังเรื่องงาน เป็นทุกข์หน้าตาหม่นหมองหลายวัน หรือว่านี่เป็นสัญญาณอาการซึมเศร้า จะทราบได้อย่างไรว่าเราเครียด
และเศร้าธรรมดาหรือกำลังเป็นโรคซึมเศร้าและมีวิธีแก้ไขอย่างไร มาอ่านบทความนี้เพื่อทำความเข้าใจไปด้วยกัน
โรคซึมเศร้าคืออะไร
อาการซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางคนเป็นโดยไม่รู้ตัว บางคนคิดมากไปเอง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักโรคนี้ดีนัก อาการของโรคซึมเศร้าสังเกตได้จากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเหล่านี้ต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ แพทย์จะวินิจฉัยเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
– อารมณ์เปลี่ยนแปลง กลายเป็นคนอ่อนไหว สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เศร้าสร้อย ไม่แจ่มใสเหมือนเดิม เบื่อหน่ายทุกอย่าง สิ่งที่เคยทำแล้วสบายใจก็ไม่อยากทำแล้ว เบื่อหน่าย ไม่สนใจทำกิจกรรมเหมือนปกติ กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย หงุดหงิดโกรธง่าย มีอาการเครียด
– มองโลกในแง่ลบ ไม่มั่นใจตนเอง โทษตัวเองทุกเรื่อง มองเห็นแต่ความผิดพลาดและความล้มเหลว รู้สึกท้อแท้หมดหวัง มองไม่เห็นทางออก ไม่เห็นอนาคต มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ คิดว่าตัวเองไร้ค่าไม่อยากเป็นภาระคนอื่น คิดอยากตาย ทำร้ายตนเอง
– เหม่อลอยไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย ความจำแย่ลง เฉื่อยชา ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ทำงานบ้านไม่เรียบร้อย ทำสิ่งต่างๆ ผิดพลาดบ่อย
– เก็บตัวอยู่คนเดียว ซึมเศร้า ไม่พูดกับใคร ไม่ร่าเริงแจ่มใส อ่อนไหวง่ายใจน้อย มีปากเสียงกับคนอื่นบ่อย
– อาการป่วยทางร่างกาย อ่อนเพลียไม่มีแรง เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร นอนไม่หลับ เบื่ออาหารน้ำหนักลด หรือกินมากเกินไป ท้องผูกแน่นท้อง ปากคอแห้ง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
– ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความรับผิดชอบลดลง งานบ้านขาดตกบกพร่อง ไม่มีสมาธิ หมดไฟในการทำงาน ลางานขาดงานบ่อย
– มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน คิดว่ามีกลั่นแกล้งประสงค์ร้าย หูแว่วได้ยินเสียงคนพูดคุยด้วย เป็นอาการโรคจิตชั่วคราวแต่เริ่มมีความรุนแรงต้องรีบรักษา
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
แพทย์จะประเมินจากอาการข้างต้นและสอบถามประวัติและรายละเอียดจากผู้ป่วยและญาติใกล้เคียงเพื่อทำความเข้าใจผู้ป่วยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นโรคทางจิตเวชอื่นที่คล้ายคลึงกัน ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจึงเป็นกำลังสำคัญในการสังเกตอาการและให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมแตกต่างจากเดิมค่อนข้างมากอย่างไร พร้อมกับช่วยเหลือประคับประคองเพื่อให้อาการดีขึ้นในเร็ววัน
วิธีรักษาโรคซึมเศร้า
1.พบโรคเร็วรักษาทันก่อนสายเกินไป
แพทย์จะซักถามประวัติเพื่อหาสาเหตุของโรคซึมเศร้าเพื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที เพราะโรคซึมเศร้าไม่ใช่ภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติที่จะคลี่คลายหายไปเอง แต่เป็นโรคที่มาพร้อมกันอาการอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ กินน้อยหรือมากเกินไป มีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ รวมถึงมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น การใช้สารเสพติด ไปจนถึงฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการดูแลรักษาที่ถูกต้อง
2.โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้
แพทย์จะพูดคุยให้คำปรึกษาและทำจิตบำบัด พร้อมกับรักษาด้วยยาแก้โรคซึมเศร้าซึ่งเป็นยาที่ปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง ทำให้อาการทุเลาและดีขึ้นจนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานยิ่งรักษายาก การรักษาจำเป็นต้องรักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งมีหลายปัจจัยดังนี้
-พันธุกรรม สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือพื้นฐานนิสัยเป็นคนคิดมาก อ่อนไหวง่าย หรือสารเคมีในสมองไม่สมดุล
-การเลี้ยงดูของพ่อแม่ สภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กจนโต อิทธิพลจากคนรอบข้าง
-มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรง กระตุ้นให้เกิดความเครียด เศร้าหมอง มองโลกในแง่ลบ
3.การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า แพทย์จะพิจารณาให้ยาซึมเศร้าหรือยาแก้เครียดกับผู้ป่วยบางราย อาการเริ่มดีขึ้นหลังจากกินยาตามแพทย์สั่งหลังผ่านไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ ทำให้ไม่เบื่ออาหาร นอนหลับง่าย มีเรี่ยวแรงและมีสมาธิมากขึ้น แพทย์จะรับไว้ในโรงพยาบาลในรายที่มีอาการรุนแรง ไม่กินอาหาร นิ่งเฉยตลอดวัย ทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย ปล่อยให้อยู่คนเดียวไม่ได้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
วิธีการป้องกันโรคซึมเศร้า
แม้ว่ารักษาหายป่วยแล้ว ผู้ป่วยเกือบครึ่งมีโอกาสกลับมาป่วยซ้ำอีก เมื่ออาการซึมเศร้าดีขึ้นแล้วควรป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยซ้ำ ด้วยการกินอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโอเมก้า 3 และวิตามินต่าง ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทำสมาธิผ่อนคลายจิตใจ และฝึกคิดบวกเพื่อให้จิตใจเข้มแข็งกล้าฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต จะไม่กลับมาเป็นโรคซึมเศร้าอีก