ปัญหาเด็กเอาแต่ใจเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตของเด็ก ๆ ได้ มีผลต่อการเข้า
สังคม การพบปะเพื่อนฝูง การอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงมารยาทที่ดี การวางตัวและบุคลิกที่เหมาะสมตามวัย เป็นต้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่อยากปล่อยให้ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังสามารถที่จะไปดูวิธีการแก้ปัญหาเด็กเอาแต่ใจได้ตามรายละเอียดด้านล่างเลย
4 วิธีแก้ปัญหาเด็กเอาแต่ใจที่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้จริง
- ไม่ตามใจเด็ก ๆ เมื่อเด็กแสดงอารมณ์โมโห เกรี้ยวกราด ทำลายข้าวของ ทำเสียงดังหรือร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ผู้ปกครองทำบางอย่างเพื่อเป็นการได้ในสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการ อย่างเช่นการซื้อของเล่น การเล่นเกม การนอนดึก การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นต้น ผู้ปกครองต้องปล่อยให้เด็ก ๆ แสดงอารมณ์เหล่านั้นมาและสอนให้เด็ก ๆ รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ทำให้เด็กได้ในสิ่งที่ต้องการ ไม่มีประโยชน์สำหรับการกระทำแบบนั้น เพื่อที่ว่าในครั้งต่อไปเด็กจะไม่ได้แสดงหรือทำพฤติกรรมเหล่านั้นอีก
- สอนและฝึกให้เด็กเป็นคนที่รู้จักรอคอย มีความอดทนต่อสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งการมีระเบียบวินัยในตนเอง โดยบอกจุดประสงค์และเป้าหมายแก่เด็ก ๆ เพื่อที่เด็กจะได้เห็นประโยชน์และความสำคัญของการฝึกสิ่งดังกล่าวขางต้น ยกตัวอย่างเช่น การไปซื้อของที่มีคิวก่อนหน้ารอต่อคิวอยู่ ผู้ปกครองควรแสดงเป็นต้นแบบให้เด็กเห็นว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร คือต้องรอต่อแถวต่อจากคนอื่น ๆ ที่มาก่อน ไม่แซงคิวหรือแสดงอารมณ์ที่ไม่ดีออกไปถ้าต้องรอคิวนานหรือหงุดหงิดรำคาญใจ ซึ่งถ้าเด็ก ๆ มีคำถามก็ควรตอบโดยใช้หลักการและเหตุผลอย่างใจเย็น
- หลีกเลี่ยงคำพูดที่เป็นลักษณะคำสั่งหรือการบังคับฝืนใจ เนื่องด้วยเด็ก ๆ อาจจะต่อต้านต่อคำสั่งและคำพูดของพ่อแม่ โดยคำที่ควรหลีกเลี่ยงมีด้วยกันหลากหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น ตื่นนอนเดี๋ยวนี้ หยุดเล่นเกมเดี๋ยวนี้ ห้ามกินขนมเด็ดขาด เป็นต้น ควรที่จะใช้คำพูดและน้ำเสียงที่เป็นการบอกตักเตือน ให้เหตุผลในประโยคที่แนะนำให้เด็ก ๆ ทำ อย่างเช่น ถึงเวลาแปรงฟันแล้ว เราต้องแปรงฟันให้สะอาดนะ เพราะฟันอาจจะผุได้ แล้วทำให้ปวดฟัน ต้องไปหาหมอ เป็นต้น
- มีบทลงโทษแก่เด็กเมื่อจำเป็น ต้องบอกว่าพ่อแม่หลายคนไม่กล้าลงโทษลูกเพราะกลัวว่าลูกจะไม่รัก แต่ถ้าเป็นการลงโทษเพื่อให้เด็กรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรทำอีกก็สามารถที่จะทำได้ตามสมควร โดยต้องเป็นการลงโทษที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก ๆ และไม่รุนแรงจนเกินไป เช่น การให้ลูกเข้ามุมหรือจำกัดอยู่ในโซนใดโซนหนึ่งเป็นเวลา 5-10 นาที เพื่อให้เด็กได้ทบทวนถึงเหตุผล การกระทำของตนเอง เป็นต้น
ทั้ง 4 วิธีรับมือกับเด็กเอาแต่ใจข้างต้น เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับหลาย ๆ ครอบครัว ใครที่รู้สึกว่ามีความน่าสนใจสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยแต่ละเทคนิควิธีนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเกิดความเคยชินจนสามารถแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาเด็กเอาแต่ใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ