แม้ว่าความรุนแรงของอาการป่วยจากโรค Covid – 19 จะลดความรุนแรงลงแต่ก็สามารถติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
ทำให้หลายคนมีอาการ กลัว วิตกกังวล หรือที่เรียกว่า “แพนิก (panic)” ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะทำให้เกิดการหวาดกลัวแบบรุนแรง ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าพบเจอผู้คนและทำให้เกิดภาวะเครียดได้
วิธีสังเกตอาการแพนิก การสังเกตความผิดปกติของตัวเองจะช่วยให้เราสามารถแก้ไขความกลัว ความวิตกกังวลอย่างไม่มีสาเหตุไปกระตุ้น เช่น ไม่ได้เข้าใกล้ผู้ป่วย ไม่ได้เดินทางออกจากบ้าน ไม่ได้พบปะคนที่มีความเสี่ยง เป็นต้น ได้อย่างทันท่วงที โดยอาการความกลัวการระบาดของโควิด – 19 ได้แก่ ร่างกายอ่อนแรง ไม่สามารถขยับร่างกาย เหงื่อออก ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็วและมีอาการนานกว่า 10 นาทีเป็นประจำ วิธีแก้ไขอาการแพนิก
วิธีป้องกันตัวเองจากความกลัว ความวิตกกังวลที่มากเกินไปในช่วงการระบาดใหญ่ของ Covid-19
- ศึกษาวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด – 19 การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตัวเองเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เช่น เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด – 19, สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาทุกครั้งที่ออกจากบ้าน, หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในสถานที่แออัดร่วมกับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เป็นต้น
- ศึกษาวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อ เมื่อพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด – 19 หรือไม่มีอาการแต่ตรวจ ATK พบเชื้อติดต่อสายด่วน 1330 และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ศึกษาวิธีการป้องกันตัวเองหลังจากติดโควิด – 19 แม้ว่าการติดเชื้อโควิด – 19 สายพันธุ์โอไมครอนจะช่วยเพิ่ม Anti Virus ได้แต่ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วก็สามารถกลับไปติดเชื้อซ้ำอีกได้จึงควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
การทราบถึงวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและยามที่ติดเชื้อจะช่วยลดความกลัวในช่วงการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ได้ เพราะช่วยลดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและคนใกล้ชิดแต่หากรู้สึกกลัว หรือกังวล สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
วิธีจัดการกับความกลัวในช่วงการระบาดใหญ่ของ Covid-19 เมื่อพบว่าตัวเองเริ่มมีออาการกลัว หรือกังวลควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- หายใจเข้า – ออก เป็นจังหวะ การควบคุมระบบการหายใจเป็นสิ่งที่ช่วยย้ำเตือนตัวเองให้กลับมามีสติ หยุดคิดในสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว ความกังวลให้สนใจเฉพาะการหายใจเข้า – ออกเท่านั้น ใช้เวลาในการหายใจเป็นจังหวะอย่างน้อย 5 – 15 นาที ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้จิตใจสงบได้แต่หาทำแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้ทำวิธีต่อไป
- โทร.หาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สายด่วนสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานที่ให้บริการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับความเครียด ความกลัว ความกังวลให้กับประชาชนโดยเฉพาะ โดยผู้รับสายพร้อมรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง หากใครที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถรับมือคนเดียวได้โทรเลยหรือหากต้องการทางออกเร่งด่วนคิดว่าเผชิญหน้ากับความกลัวไม่ไหว วิธีต่อไปช่วยได้แน่นอน
- พบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา การเข้ารับคำปรึกษากับจิตแพทย์ที่คลินิกไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ทุกคนสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ เพราะความกลัว ความวิตกกังวลและความเครียดที่มากเกินไปมีสาเหตุมาจากสารเคมีในสมองและการทำงานของระบบประสาทผิดปกติที่ต้องทำการรักษาด้วยการรับประทานยาที่สั่งจ่ายโดยจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง
เพราะความกลัวในการติดเชื้อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้นแต่การกลัว หรือวิตกกังวลมากเกินไปสามารถทำให้ใช้ชีวิตไม่มีความสุขได้เช่นกัน เราจึงควรใช้ชีวิตอยู่บนทางสายกลางระมัดระวังแต่ไม่หวาดกลัวจนไม่กล้าใช้ชีวิต เพราะโรคโควิดอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไปในอนาคต