ภาวะลองโควิด (Long Covid) คืออะไร

ภาวะลองโควิด (Long Covid) คืออะไร

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะคลี่คลายลง แต่เราทุกคนคงไม่สามารถดำเนินชีวิตด้วยความประมาทได้ เพราะยังคงมีกระแสข่าวคนติด

เชื้ออยู่ตลอดเวลา หากแต่ปริมาณค่อย ๆ ลดน้อยลงและไม่มีความรุนแรงมากนัก เว้นเสียแต่ผลกระทบในระยะยาวหรือที่เรียกกันว่า ภาวะลองโควิด (Long Covid)

  • ภาวะลองโควิด (Long Covid) คืออะไร

เกิดจากผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโควิดและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว ร่างกายกลับไม่แข็งแรงเหมือนเดิม รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก อาการโดยรวมเหมือนกับตอนติดเชื้อและเข้ารับการรักษาเกือบทุกประการ นั่นเพราะอวัยวะภายในบางส่วนได้รับความเสียหายและเกิดการอักเสบภายใน ทำให้ผู้ป่วยยังรู้สึกเหมือนยังไม่หายทั้งที่ร่างกายไม่มีเชื้อโรคดังกล่าวแล้ว ทางการแพทย์จึงเรียกอาการเหล่านี้ว่า ภาวะลองโควิด

  • อาการลองโควิดที่พบได้บ่อย

อาการของลองโควิดที่พบขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับว่ามีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใดและอวัยวะที่สำคัญอย่างปอดได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหนด้วย รวมไปถึงระยะเวลาในการรับเชื้อ จากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหามักจะได้รับเชื้อนาน 4-12 สัปดาห์ โดยมีการรวบรวมอาการลองโควิดที่พบได้บ่อยดังนี้

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • เมื่อทำกิจกรรมใด ๆ จะหายใจถี่ หอบเหนื่อย
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • บางครั้งมีไข้ ไอและเจ็บคอ
  • จมูกได้รับกลิ่นน้อยลง
  • นอนไม่หลับหรือหลับยาก
  • ใจสั่น อึดอัดแน่นหน้าอก
  • ปวดหัว สมองล้า สมาธิสั้นลงกว่าปกติ
  • บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้าและความกังวลร่วมอยู่ด้วย

สำหรับในรายที่ประสบปัญหาในเรื่องของระบบทางเดินหายใจและอาการวิงเวียนศีรษะ สมองล้า ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้หาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

  • ข้อควรระวังของผู้ป่วยโควิด

สิ่งที่ผู้ป่วยโควิดต้องพึงระวังมากที่สุดในตอนรับเชื้อมาก็คือปัญหาภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนแรก ที่ร่างกายมีความอ่อนแอมากที่สุด เช่น ระบบทางเดินหายใจ พบว่าปอดจะมีความผิดปกติมากที่สุด บางรายอาจมีพังผืดขึ้นที่ปอด ลิ่มเลือดอุดตัน มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในระบบเลือด เชื้อราและการอักเสบของอวัยวะภายใน ส่งผลให้อวัยวะสำคัญ ๆ ทำงานผิดปกติไปด้วย เช่น ตับอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังตรวจพบในผู้ป่วยที่ใช้ยาในการรักษาซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผล ระดับน้ำตาลในร่างกายไม่คงที่

  • การดูแลตนเองและวิธีการป้องกัน

ในบรรดาผู้ป่วยโควิดทั้งหมดนั้น กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากพบว่าร่างกายได้รับเชื้อและมีภาวะโรคแทรกซ้อน ก็มีโอกาสที่อาการจะทรุดหนักมากกว่ากลุ่มคนในวัยอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการดูแลตนเองและป้องกันที่ดีที่สุดคือ

  • เข้ารับการฉีดวัคซีนตามนัด
  • สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
  • ล้างมือบ่อย ๆ 
  • รักษาระยะห่างจากคนอื่น ๆ อย่างน้อย 1-2 เมตร
  • หมั่นออกกำลังกาย โดยเริ่มจากเบา ๆ และสังเกตอาการของตนเองควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพของปอด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติโดยเฉพาะอาการทางเดินหายใจ อาการวิงเวียนศีรษะ สมองล้า ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบางครั้งอาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากภาวะลองโควิด แต่อาจเป็นปัญหาภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นก็เป็นได้