ลูกสมาธิสั้น อารมณ์ร้อนต้องรักษายังไงดี

ลูกสมาธิสั้น อารมณ์ร้อนต้องรักษายังไงดี

สมาธิสั้นเป็นโรคที่พบได้ในเด็ก มักจะแสดงอาการอยู่ไม่นิ่ง ซุกซนผิดปกติ ขาดสมาธิ เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็โกรธง่าย

ควบคุมตนเองไม่ได้จนถึงขั้นทำร้ายเพื่อนหรือพ่อแม่ เด็กอารมณ์ร้อนอย่างนี้แก้ไขอย่างไร มีวิธีการรักษาหรือไม่ เรามีคำตอบมาให้คุณแล้ว

โรคสมาธิสั้น คืออะไร

ภาวะสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสมองส่วนหน้าหลั่งสารควบคุมเรื่องสมาธิออกมาน้อยกว่าปกติ สาเหตุปัจจัยหลักเกิดจาก

  • กรรมพันธุ์ หากพ่อแม่มีประวัติเป็นโรคสมาธิสั้นมาก่อน อาจส่งต่อโรคถึงลูกมากกว่า 50%
  • สิ่งแวดล้อม ร่างกายสะสมสารโลหะหนักหรือสารพิษ เช่น สารตะกั่ว ที่ปะปนอยู่ในสภาพแวดล้อม
  • พฤติกรรมของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติด ทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นมากขึ้น
  • คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าปกติ เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้น และภาวะบกพร่องในการเรียนรู้

โรคสมาธิสั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก มักเริ่มตั้งแต่อายุ 3-12 ปี โดยเฉลี่ยเกิดกับเด็กอายุ 7 ปี และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง มีอาการซุกซนผิดปกติและอยู่ไม่นิ่ง โรคสมาธิสั้นส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ในวัยเรียน กระทบต่ออารมณ์ พฤติกรรม และการเข้าสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมไม่เท่ากับเด็กปกติ

สาเหตุที่เด็กควบคุมความโกรธของตนเองไม่ได้

เกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประการหลัก คือ

  • ร่างกายเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เช่น สมาธิสั้น ไบโพลาร์ ออทิสติก เป็นสาเหตุที่เด็กใจร้อน หงุดหงิด และซึมเศร้า
  • พฤติกรรมและจิตใจ ได้แก่ เกิดจากอารมณ์ตามธรรมชาติของเด็ก เช่น ขี้โมโห อารมณ์ร้าย ขาดความอดทน 
  • สภาพแวดล้อม เกิดจากการเลี้ยงดูในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง พ่อแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ รวมถึงอิทธิพลจากสื่อโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง ส่งอิทธิพลต่อเด็ก ทำให้โมโหร้าย

วิธีการรับมือกับเด็กโกรธ

อารมณ์โกรธของเด็กเกิดขึ้นเมื่อถูกขัดใจ จะแสดงความโกรธและความก้าวร้าวออกมาอย่างรุนแรงจนควบคุมไม่ได้ พ่อแม่ต้องรับมือและปลอบประโลมเพื่อลดอารมณ์โกรธของเด็กให้อยู่ในระดับที่ปกติ ไม่เช่นนั้นแล้วเด็กอาจหยิก กัด และทำร้ายคนรอบข้าง เมื่อเด็กโกรธเรามีวิธีรับมือ ดังนี้

  1. พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กเห็น เมื่อรู้สึกโกรธให้พ่อแม่นิ่งอยู่ก่อน จนรู้สึกผ่อนคลายแล้วค่อยพูดออกมา เป็นการจัดการกับความโกรธในเบื้องต้น 
  2. หากเด็กโกรธไม่รุนแรง ปล่อยให้เด็กหน้าบึ้ง ร้องไห้ฮึดฮัดไปก่อนจนใจเย็นลง จากนั้นค่อยรับฟังความคับข้องใจ แล้วสอนให้รู้จักการขอโทษและการให้อภัย 
  3. สอนวิธีจัดการกับความโกรธ โดยถอยออกมาจากเหตุการณ์นั้นก่อน อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าความโกรธเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อโกรธแล้วต้องสงบสติให้ได้ ลองแยกตัวไปอยู่ในที่สงบและเบี่ยงความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา เล่นกับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้อารมณ์สงบลง
  4. หากทำให้เด็กหายโกรธไม่ได้หรือมีพฤติกรรมรุนแรงมาก ทำร้ายตนเอง ผู้อื่น และทำลายข้าวของ รีบหยุดเด็กและปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี 
  5. ก่อนอื่นแพทย์จะซักประวัติ ตรวจความปกติทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็ก รวมถึงพ่อแม่ เพื่อดูว่าเด็กโกรธรุนแรงจนผิดสังเกตหรือไม่ แล้วหาสาเหตุเพื่อรักษาต่อไป
  6. พ่อแม่ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครอบครัว ตลอดจนดูแลให้เด็กรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และมีพ่อแม่เป็นกำลังใจ จะช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้นเกือบ 100%

โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่เป็นได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม หากสงสัยว่าลูกมีอาการของโรคสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้หายป่วยกลับมามีชีวิตเป็นปกติสุขในระยะยาว