ภาวะรกเกาะต่ำ

ภาวะรกเกาะต่ำ

เมื่อมีเลือดสดออกมาทางช่องคลอดในขณะตั้งครรภ์อันตรายแค่ไหน ? และควรทำอย่างไร ? 

เชื่อว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะแบบนี้ขึ้นจะมีความกังวลใจอย่างมาก เพราะนั่นอาจหมายถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ 

การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ รวมถึง “ภาวะรกเกาะต่ำ” ที่ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งทั้งคุณแม่และลูกในท้องด้วย 

รู้จักภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa) 

โดยทั่วไปแล้วในระหว่างการตั้งครรภ์ “รก” จะอยู่บริเวณด้านบนของมดลูกและมีระยะห่างจากปากมดลูก แต่สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำตำแหน่งของรกจะอยู่ในจุดที่ปิดขวางหรือคลุมปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งถือว่ารกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ปกติ 

สำหรับตำแหน่งที่รกเกาะอยู่ใกล้กับปากมดลูกนั้นจะมีผลทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างมดลูกและรกเกิดการฉีกขาดได้ง่าย เมื่อมีการขยายตัวของมดลูกตามขนาดของเด็กในระหว่างการตั้งครรภ์จึงทำให้มีเลือดปนออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการคลอดคุณแม่ก็มีโอกาสเสียเลือดได้มาก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกในท้อง ที่สำคัญคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำจะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและสูตินรีแพทย์มักพิจารณาใช้วิธีการ “ผ่าตัดคลอด” แทนการคลอดแบบธรรมชาติในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะดังกล่าวด้วย

ภาวะรกเกาะต่ำมีอาการแบบไหน

ภาวะรกเกาะต่ำโดยทั่วไปมักเกิดขึ้นกับอายุครรภ์ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 แต่กระนั้นก็พบว่า 30% ของคุณแม่ตั้งครรภ์และมีภาวะรกเกาะต่ำจะมีโอกาสที่รกเคลื่อนตัวสูงขึ้นหรือภาวะรกเกาะต่ำจะลดลงเหลือเพียง 1% ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ก่อนคลอด 

ทั้งนี้ในทางการแพทย์ได้แยกภาวะรกเกาะต่ำออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. รกเกาะส่วนล่างของมดลูก ภาวะนี้คุณแม่ยังสามารถคลอดตามธรรมชาติได้
  2. รกเกาะต่ำชนิดเกาะขอบ มีความเสี่ยงที่จะเสียเลือดมากขณะคลอด แต่ก็ยังสามารถคลอดตามธรรมชาติได้หรืออาจจำเป็นต้องผ่าคลอดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
  3. รกเกาะต่ำชนิดบางส่วน ซึ่งต้องอาศัยการผ่าคลอด
  4. รกเกาะต่ำชนิดสมบูรณ์ไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติตามปกติได้ ต้องใช้วิธีการผ่าคลอดเท่านั้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเสียเลือดมากและคลอดก่อนกำหนดได้ 

สำหรับสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกถึงภาวะรกเกาะต่ำก็คือการมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งผู้มีภาวะรกเกาะต่ำบางรายอาจจะไม่รู้สึกเจ็บปวดครรภ์ แต่ในบางรายจะมีอาการเจ็บแปลบหรือเกิดการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย 

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ซึ่งมีเลือดออกมากเกินไปก็อาจทำให้มีภาวะอาการซีด หายใจสั้น ชีพจรเต้นอ่อนหรือเร็วกว่าปกติ ความดันต่ำและเลือดจาง ซึ่งไม่ควรนิ่งนอนใจหากเกิดความผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดปัญหารกเกาะต่ำขึ้นได้ 

สาเหตุของภาวะรกเกาะต่ำ 

แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงของภาวะรกเกาะต่ำได้ แต่ก็มีหลายตัวแปรที่คาดว่าทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ อาทิ ทารกในครรภ์อยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ, เกิดแผลที่ผนังมดลูก, การตั้งครรภ์ลูกแฝด และคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เป็นต้น 

การรักษาภาวะรกเกาะต่ำ 

โดยทั่วไปหากคุณแม่ตั้งครรภ์มีเลือดออกเล็กน้อยแพทย์จะแนะนำให้นอนพักผ่อนอยู่บ้าน ลดการเคลื่อนไหวลง และงดการมีเพศสัมพันธ์ แต่หากมีเลือดออกมากแพทย์มักจะให้นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจนกว่าจะคลอดโดยอาจให้เลือดทดแทนเลือดที่เสียไป ทั้งนี้หากอายุครรภ์ครบกำหนดแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดคลอดให้ทันที แต่หากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดแพทย์จะให้ยาระงับการบีบตัวของมดลูกและใช้ยากระตุ้นปอดทารกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดก่อนกำหนด

ความผิดปกติเหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์มองข้ามไม่ได้และต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติจากการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด