นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เกิดขึ้นได้อย่างไร

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เกิดขึ้นได้อย่างไร นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เกิดขึ้นได้อย่างไร

สิ่งแปลกปลอมในกระเพาะปัสสาวะที่เรียกว่านิ่ว เกิดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แม้ว่าผู้ชายจะมีความเสี่ยงมากกว่า แต่ผู้หญิงก็ไม่ควรวางใจ สิ่งแปลกปลอม

ชนิดนี้เกิดได้ง่ายเมื่อผู้หญิงเริ่มอายุมากขึ้น สภาวะที่ผนังกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอและหย่อนจนกระทั่งไปปิดทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่สามารถไหลออกมาได้ สิ่งตกค้างหรือตะกอนนิ่วจึงเกิดขึ้น 

สาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะยังมีมากกว่านั้น แนะนำทั้งหญิงและชายให้พึงระวังสาเหตุต่อไปนี้

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หากพบว่ามีการติดเชื้อแล้วไม่รีบรักษากระเพาะปัสสาวะจะอักเสบและเป็นสาเหตุให้เกิดก้อนนิ่ว 
  • การรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล เช่น อาหารไขมันสูง อาหารที่มีน้ำตาลหรือโซเดียมสูง จะทำให้ปัสสาวะมีตะกอนและเกลือมากเกินไป
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะขาดวิตามินเอและวิตามินบีมีโอกาสเสี่ยงเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้
  • การดื่มน้ำน้อยในแต่ละวันทำให้ปัสสาวะข้นและตกตะกอนได้ง่าย

นอกจากนี้การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะยังมีสาเหตุมาจากความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • ระบบเส้นประสาทสมองทำงานไม่ดีส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมระบบทางเดินปัสสาวะได้ ทำให้ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะกะปริบกะปรอย 
  • เกิดก้อนนิ่วในไตทำให้ตะกอนนิ่วตกลงมาสู่กระเพาะปัสสาวะ 
  • สำหรับนิ่วที่เกิดกับผู้ชายอาจมีสาเหตุมาจากต่อมลูกหมากโตทำให้การไหลของปัสสาวะติดขัด มีปัสสาวะตกค้าง และตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว

อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 

  • เริ่มจากอาการปวดท้องน้อย พอนานเข้าจะมีอาการปวดหลังร่วมด้วย
  • ปัสสาวะลำบาก เพราะก้อนนิ่วอุดตันท่อปัสสาวะทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ค่อยออกและรู้สึกแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ บางคนปวดแสบปวดร้อนจนไข้ขึ้น
  • ปัสสาวะไม่สุดทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะตลอดเวลา 
  • อาการที่ไม่ได้รับการรักษาจะเริ่มเรื้อรังจนปัสสาวะมีสีเลือดปนและเริ่มขุ่น
  • ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาการปวดท้องน้อยและปวดหลังจะรุนแรง

อาการแทรกซ้อนที่ควรระวัง

เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอย่าปล่อยให้เรื้อรังเพราะจะนำไปสู่ภาวะติดเชื้อในไต ทำให้กรวยไตอักเสบและอาจลามไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งมีอันตรายมาก

รีบพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะรักษาได้หลายวิธี

หากรีบรักษาเร็วในขณะที่ก้อนนิ่วยังเล็กอยู่สามารถใช้วิธีธรรมชาติคือการดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อขับก้อนนิ่วออกมาเองทีละน้อย แต่หากนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นต้องใช้วิธีทางการแพทย์ ได้แก่

  • การรับประทานยาสลายนิ่ว สำหรับนิ่วที่ยังไม่ใหญ่มาก
  • วิธีใช้คลื่นเสียงสลายนิ่วสำหรับนิ่วก้อนใหญ่และนิ่วในไต คลื่นเสียงจะเข้าไปกระแทกก้อนนิ่วจนแตกและหลุดออกมากับปัสสาวะ 
  • วิธีส่องกล้องเข้าไปกรอก้อนนิ่วให้แตกละเอียดและหลุดออกมากับปัสสาวะ ใช้กับนิ่วขนาดใหญ่เช่นกัน 
  • การผ่าตัดทางหน้าท้อง สำหรับนิ่วที่มีขนาดใหญ่มากหรือใหญ่เกิน 2 ซม.

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะป้องกันได้ อย่าให้ร่างกายของเราต้องเจ็บปวดเพราะนิ่วก้อนนี้ เริ่มต้นด้วยการไม่รับประทานอาหารที่กระตุ้นการเกิดนิ่วและดื่มน้ำให้มาก ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว การดื่มน้ำนอกจากป้องกันนิ่วแล้วยังดีต่อสุขภาพโดยรวมของเราอีกด้วย