ผ่าตัดเส้นเลือดขอดที่อัณฑะ ข้อดีที่ผ่า และ ไม่ผ่า

ผ่าตัดเส้นเลือดขอดที่อัณฑะ ข้อดีที่ผ่า และ ไม่ผ่า

เส้นเลือดขอดทุกคนรู้จักกันดีแต่อาจมีไม่กี่คนที่รู้ว่าการขอดของเส้นเลือดดำสามารถเกิดขึ้นที่ถุงอัณฑะของเพศชายได้ด้วย เรียกว่าหลอดเลือดอัณฑะ

ขอด หรือ Varicocele ซึ่งเกิดจากกลุ่มหลอดเลือดดำในบริเวณอัณฑะขยายตัว เพราะหลอดเลือดดำทำงานได้ไม่ดีเลือดไม่กลับไปที่หัวใจแต่ไหลย้อนไปอุดตันในถุงอัณฑะนั่นเอง

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นหลอดเลือดอัณฑะขอด

การที่หลอดเลือดขอดจะทำให้ถุงอัณฑะมีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติจนดูเหมือนบวม ดังนั้นหากคุณผู้ชายพบความผิดปกตินี้สามารถสันนิษฐานได้อย่างหนึ่งว่าเป็นเส้นเลือดขอดที่อัณฑะ ซึ่งไม่ค่อยมีใครเป็นกันมากนัก ที่ผ่านมาพบเพียง 15% ของผู้ชายทั้งหมดเท่านั้น นอกจากนี้สัญญาณที่จะบอกได้ว่าหลอดเลือดอัณฑะขอดก็คือ

  • มีก้อนอยู่บนถุงอัณฑะ ร่วมกับอาการปวดหน่วงขณะยืน 
  • มีเส้นเลือดนูนออกมาจนเห็นได้ชัด 
  • ฮอร์โมนเพศต่ำ และมีความผิดปกติของน้ำอสุจิ เช่น อสุจิไม่แข็งแรงและผิดรูปผิดร่าง จำนวนอสุจิน้อย 
  • หลอดเลือดดำกระจุกตัวเป็นก้อน

สัญญาณ 2 ข้อหลังนี้ไม่สามารถสังเกตได้เอง แต่จะพบได้เมื่อมีโอกาสไปตรวจร่างกาย เช่น ไปตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หรือตรวจภาวะมีบุตรยาก 

หลอดเลือดอัณฑะขอดควรผ่าตัดหรือไม่

หากไม่ได้มีอาการปวด หรือพบว่าอัณฑะฝ่อก็ไม่ต้องผ่าตัด บางคนปวดไม่มาก ปวดเป็นพัก ๆ ใช้วิธีรับประทานยาก็หาย การผ่าตัดจะจำเป็นก็ต่อเมื่อมีความเจ็บปวดรุนแรง หรือต้องการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก มีปัญหาของระบบสืบพันธุ์ โดยการผ่าตัดสามารถทำที่บริเวณขาหนีบ หรือช่องท้องก็ได้ และจะใช้วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือผ่าตัดเปิดก็ได้เช่นกัน ข้อดีของการผ่าตัดหลอดเลือดอัณฑะขอดก็คือ

  • ช่วยลดอาการเจ็บปวด
  • 70% ของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วพบว่าฮอร์โมนเพศปรับตัวดีขึ้น อสุจิแข็งแรงขึ้น
  • การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ไม่เกิดภาวะเลือดอุดตัน
  • จากที่ผ่านมาพบว่า สามารถรักษาภาวะมีบุตรยากได้ถึงเกือบ 50% ของผู้เข้ารับการผ่าตัด

อย่างไรก็ตามในการผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้างในเรื่องของ Side Effect จากการวางยา ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล อาจมีของเหลวคั่งค้างในถุงอัณฑะ มีเลือดออกและอักเสบ รวมถึงผลกระทบต่อเส้นประสาทบริเวณอัณฑะ 

การรักษาด้วยวิธีอื่น 

ข้อดีของการไม่ผ่าตัดก็คือไม่ต้องกังวลกับผลข้างเคียงและไม่ต้องเจ็บตัว เพราะการผ่าตัดอาจไม่รักษาหลอดเลือดขอดได้อย่างถาวร ผู้ที่เคยเป็นแล้วยังมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีกซึ่งก็ต้องกลับมาผ่าตัดซ้ำอีก ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่นกรณีที่ไม่ผ่าตัดก็คือ

  • การใช้สารฉีดบริเวณที่มีการอุดตัน 
  • สำหรับหลอดเลือดขอดขนาดใหญ่ใช้วิธีสวมอุปกรณ์ช่วยพยุงถุงอัณฑะ
  • หลอดเลือดขอดขนาดเล็กใช้กางเกงในชนิด Support

สำหรับผู้ที่มีอาการหลอดเลือดอัณฑะขอดหากเลือกที่จะไม่ผ่าตัดเพราะคิดว่ายังไม่จำเป็นก็อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยการไม่ทำงานหนัก ไม่ออกกำลังกายหักโหม หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ และอย่าละเลยถ้ามีอาการปวดบวมมากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งเพื่อรักษาอย่างถูกทาง