ไข้อีดำอีแดงนี้คือโรคอะไร แล้วมีการรักษาหรือไม่

ไข้อีดำอีแดงนี้เป็นโรคอะไรแล้วมีการรักษาหรือไม่

สมัยนี้โรคที่เกิดกับเด็กมีเยอะมากและอาการของโรคก็ใกล้เคียงกันจนสันนิษฐานไม่ถูก เมื่อลูกปวดหัว ตัวร้อน ไอ เจ็บคอ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าลูกจะเป็น

ไข้หวัด แต่ถ้าพบว่ามีผื่นขึ้นที่คอและหน้าอกก่อนจะลามไปแขนขาพร้อมกับมีตุ่มแดงขึ้นที่ลิ้น อาจเป็นอีกโรคหนึ่งที่มาเกิดกับลูกของคุณ นั่นคือโรคไข้อีดำอีแดง 

ไข้อีดำอีแดง โรคที่มีมาแต่โบร่ำโบราณและเรียกชื่อกันแบบบ้าน ๆ เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ท่านดูจากลักษณะอาการที่มีผื่นแดง ๆ ดำ ๆ ขึ้นมาจึงตั้งชื่อไว้แบบนั้น แต่โรคนี้เป็นโรคที่เกิดได้ทั่วไป ตามตำราทางการแพทย์สมัยใหม่เรียกว่า Scarlet Fever มักจะเกิดกับเด็กอายุประมาณ 5 – 15 ปี ที่ไปโรงเรียนและติดเชื้อแบคทีเรียกลับมา เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่อโดยการสัมผัสของใช้ที่มีสารคัดหลั่งของผู้ป่วยติดอยู่ เชื้อแบคทีเรียที่ว่านี้ก็คือ เชื้อเสตร็ปโตคอสคัส (Streptococcus) ชนิด A แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีโรคนี้ระบาดมากเหมือนสมัยก่อนแล้วเพราะการแพทย์ทันสมัยขึ้น เมื่อมีผู้ป่วยสามารถทำการรักษาได้เร็วไม่แพร่กระจายง่าย

ลักษณะที่เด่นชัดของไข้อีดำอีแดง

นอกจากเป็นไข้ ปวดเนื้อตัว และเจ็บคอแล้ว ผื่นแดงที่ขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอาการที่ชัดเจนของโรคนี้ โดยผื่นอาจจะขึ้นมาก่อนหรือหลังเป็นไข้ก็ได้ ลักษณะของผื่นก็คือ

  • เริ่มขึ้นที่บริเวณรอบคอ หน้าอก และลามไปตามข้อพับ
  • ผื่นจะมีลักษณะเป็นเกล็ดหยาบและสากคล้ายกระดาษทราย
  • มีอาการคันที่ผื่น 
  • มีตุ่มแดงขึ้นที่ลิ้น ทำให้ลิ้นแดงบวม
  • ผื่นจะหายใน 1 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นผิวหนังชั้นนอกจะค่อย ๆ ลอกเป็นขุยอยู่นานเป็นเดือน

อันตรายขนาดไหน และจะรักษาไข้อีดำอีแดงได้อย่างไร

อาการไข้อีดำอีแดงไม่มีอันตรายร้ายแรง ปัจจุบันนี้มีการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและจ่ายยาอย่างถูกต้อง โดยมีเงื่อนไขสำคัญสำหรับผู้ป่วยคือต้องรับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องจนครบ 10 วัน แม้ว่าอาการจะหายไปก่อน 10 วัน แต่ก็ต้องทานยาต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดอาการอย่างอื่นแทรกซ้อนขึ้นมาได้ อันตรายของอาการแทรกซ้อนมีความน่ากังวลมากกว่าเป็นไข้อีดำอีแดง ไม่ว่าจะเป็นอาการของไข้รูมาติกซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจผิดปกติและเสียชีวิตได้ อาการแทรกซ้อนที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งคือไตอักเสบ 

นอกจากรับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งอย่างครบถ้วนแล้ว ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดหัวตัวร้อน ยาแก้เจ็บคอ ยาแก้ผื่นคัน และปฏิบัติตัวดังนี้เพื่อให้หายเร็วขึ้น

  • พักผ่อนอย่างเต็มที่ นอนหลับให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ วันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว
  • หยุดพักการไปโรงเรียนและไม่ควรใกล้ชิดผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่ได้เริ่มต้นรับยาปฏิชีวนะ 

การดูแลสุขภาพเด็กเพื่อให้ห่างไกลจากไข้อีดำอีแดง

  • ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค 
  • สร้างสุขนิสัยในการรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่
  • ควรเตรียมภาชนะส่วนตัวให้เด็กสำหรับรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ รวมถึงของใช้ส่วนตัวเวลาไปโรงเรียน ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • สอนให้เด็กปิดปากเวลาไอหรือจาม 

โรคภัยมีอยู่รายรอบตัวเด็ก คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลสุขอนามัยให้ลูกหลานเสมอเพื่อสุขภาพที่ดีจะได้ไม่มีโรคมาเยี่ยมเยือนบ่อย ๆ