แม้ว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือโรคลูคีเมีย (Leukemia) จะไม่ใช่โรคมะเร็งอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทย แต่ถึง
อย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าลูคีเมียเป็นหนึ่งในโรคที่รักษายากและสังเกตอาการได้ยาก เนื่องจากเป็นโรคนี้เกิดขึ้นจากเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนผิดปกติ มีการเจริญเติบโตและส่งผลกระทบต่อการการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติ เซลล์เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด อาการเบื้องต้นมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ทำให้กว่าจะรู้ตัวอีกที เซลล์มะเร็งก็แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว จึงต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนเข้าเข้าใจและสังเกตอาการได้ง่ายขึ้น เรามีข้อมูลที่น่าสนใจของโรคลูคีเมียมาฝาก
หากแบ่งเป็นระยะเวลาการเกิดโรค สามารถแบ่งโรคลูคีเมียได้เป็น 2 ประเภท โดยแบบแรกคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน หรือ acute leukemia เกิดจากเซลล์เม็ดขาวที่ผิดปกติแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการอย่างรุนแรงและฉับพลัน ต้องรีบเข้ารับการรักษาในทันที ส่วนแบบที่สองเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังหรือ chronic leukemia เกิดจากการมีเซลล์เม็ดเลือดขาวมากเกินไป แต่ความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ใช้เวลาเป็นปี ร่างกายถึงแสดงอาการผิดปกติ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคลูคีเมียอย่างชัดเจน แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยง อย่างพันธุกรรม อายุที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะแทรกซ้อนของโรคไขกระดูกเสื่อม (Myelodysplastic syndrome : MDS) ผลกระทบจากการสัมผัสกับสารเคมี และผลจากรักษาด้วยเคมีบำบัดจากการเป็นมะเร็งชนิดอื่น
ขณะที่เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโตและมีการแบ่งเซลล์ ในทางตรงกันข้าม เซลล์เม็ดเลือดขาวปกติ เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดในร่างกายจะลดลง ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคลูคีเมียเริ่มแรกจะมีอาการเป็นลมบ่อยครั้ง เวียนหัวบ่อย รู้สึกไม่มีแรง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ป่วยบ่อย ติดเชื้อง่าย เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เลือดหยุดไหลยาก ประจำเดือนมากผิดปกติ เลือดออกในจอประสาทตา มีจุดจ้ำตามตัว เหงือกบวมโต และมีภาวะโลหิตจาง น้ำหนักลด แต่ถ้าโรคดำเนินลุกลามผ่านระบบเลือดและน้ำเหลืองไปยังอวัยวะอื่น จะมีอาการปวดกระดูก ปวดข้อ น้ำหนักลด ภาวะน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต พบก้อนตามตัวและท้อง
เนื่องจากโรคลูคีเมียเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกิดขึ้นที่ไขกระดูก เพราะฉะนั้นในการวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดทั้ง 3 ชนิด และการตรวจไขกระดูกเพื่อนับจำนวนเซลล์ตัวอ่อน ส่งตรวจเพื่อแยกระหว่างเซลล์ myeloid กับ lymphoid และตรวจโครโมโซมเพื่อพยากรณ์โรค
การเลือกวิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย โดยแนวทางการรักษามีด้วยการ 4 แบบคือ การรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เหมาะสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน การรักษาแบบยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การใช้รังสีรักษาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งและป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตต่อไป และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) เป็นการนำเซลล์จากเลือดหรือไขกระดูกของญาติผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยหลังจากผ่านการรักษาจนเข้าสู่ภาวะโรคสงบ มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดโรคซ้ำ
จะเห็นว่าความน่ากลัวของลูคีเมียอยู่ตรงที่อาการเบื้องต้นคล้ายกับโรคอื่น จึงต้องหมั่นพิจารณาอาการป่วยของตัวเองและตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ โอกาสรักษาหายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น