เมื่อมีปัญหาท้องผูก ถ่ายยากหลายคนคงทราบดีว่าจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายท้องมากแค่ไหน แต่หากเกิดภาวะที่อุจจาระแห้งและแข็งตกค้างอยู่ปลายสุด
ของลำไส้ใหญ่บริเวณที่ติดกับทวารหนักและอุดกั้นไม่ให้อุจจาระใหม่ถูกขับออกมาได้ ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า “ขี้เต็มท้อง” นั้น จะยิ่งอึดอัดและไม่สบายตัวมากแค่ไหน ?
รู้จัก “โรคขี้เต็มท้อง” ความไม่ปกติของระบบขับถ่ายที่ทุกคนต้องระวัง
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีนักร้องสาว ตุ๊กตา จมาพร แสงทอง จากเวที The Voice ได้แชร์ประสบการณ์โรคขี้เต็มท้อง ซึ่งถือเป็นโรคที่แปลกและอาจยังไม่ค่อยคุ้นหูคนส่วนใหญ่มากนัก โดยนักร้องสาวเปิดเผยว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนที่ท้องผูกเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับการขับถ่ายทุกลักษณะ หากว่ามีพฤติกรรมชอบอั้นอุจจาระหรือมีการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบขับถ่ายของร่างกาย ได้แก่
อาการของโรคขี้เต็มท้อง
นอกจากโรคขี้เต็มท้องจะมีลักษณะคล้ายกับอาการท้องผูกแล้ว แต่จะใช้เวลานานกว่าและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนอาจใช้เวลานานหลายวันเลยทีเดียว โดยมีอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดแน่นท้อง ปวดเกร็งในช่องท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดหลังส่วนล่าง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีกลิ่นปาก เป็นต้น แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงมักจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ มีไข้ สับสนกระวนกระวาย และหายใจหอบเร็วผิดปกติ โดยอาจมีเลือดออกทางทวารหนักหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งจำเป็นต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
แนวทางการรักษาโรคขี้เต็มท้อง
แนวทางหลัก ๆ ที่แพทย์จะใช้รักษาคนไข้ที่มีภาวะดังกล่าวคือการขจัดอุจจาระที่อยู่ในลำไส้ออกไป และป้องกันการสะสมใหม่ของอุจจาระ ซึ่งวิธีการที่ได้รับความนิยมมากคือการให้ยาระบาย ใช้ยาสวนทวารฉีดเข้าทางทวารหนักเพิ่มการหล่อลื่น ทำให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้นหรืออาจใช้น้ำกลั่นทางการแพทย์ผ่านทางท่อที่สอดเข้าไปทางทวารหนักก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีการล้วงเขี่ยอุจจาระออกมา จะช่วยให้คนไข้โล่งสบายท้องขึ้น
สิ่งสำคัญคือการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคขี้เต็มท้อง โดยการสร้างพฤติกรรมการขับถ่ายให้ถูกต้อง ป้องกันปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ด้วยการดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่มีกากใยหรือมีไฟเบอร์สูง เลี่ยงอาหารน้ำตาลสูงเพราะทำให้เกิดท้องผูกง่ายขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่กลั้นอุจจาระและปัสสาวะ เพียงเท่านี้ก็ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคขี้เต็มท้องได้แล้ว