ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ฤดูกาลที่มีช่วงเวลายาวนานที่สุดคือฤดูฝน ซึ่งฤดูนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-
ตุลาคมของทุกปี หากพูดถึงเรื่องสุขภาพ ฤดูฝนมีโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หนึ่งในนั้นคือไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากทุกปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี แม้จะยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สามารถป้องกันได้
• ไวรัสเ
ดงกีคืออะไร และใครบ้างที่เสี่ยงเป็นไข้เลือดออก
ไวรัสเดงกี คือไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกโดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะ เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัดคุณ ก็จะทำให้มีอาการไข้และอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งเราจะพูดถึงต่อไป ไวรัสประเภทนี้มีสี่สายพันธุ์คือ แดงกี-1 ไปจนถึง เดงกี-4 หากติดเชื้อสายพันธ์ไหนก็จะมีภูมิต้านทานของสายพันธุ์นั้น แต่จะสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกจากไวรัสแดงกีสายพันธุ์อื่นได้ในครั้งต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อซ้ำจากสายพันธ์อื่น อาการจะรุนแรงกว่าติดเชื้อครั้งแรก
เราอาจเคยได้ยินว่าคนที่เสี่ยงเป็นไข้เลือดออกมากที่สุดคือเด็ก แต่ความจริงแล้วโรคนี้เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือเด็กทารกและผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่นโรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
• อาการของไข้เลือดออก
อาการของไข้เลือดออก แบ่งได้เป็นสามระยะคือระยะไข้ ระยะวิกฤติ และระยะพักฟื้น ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ระยะไข้
ถือเป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาการโดยรวมจะเริ่มต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่คือมีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และปวดเมื่อยตามตัว ระยะนี้จะอยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยอาจมีผื่นแดงเป็นจุดเลือดออกตามตัวร่วมด้วย วิธีการเฝ้าระวังที่ดีที่สุดคือหากคนในครอบครัวมีไข้สูงต่อเนื่องเกินสองวันหรือ 48 ชั่วโมงขึ้นไป ควรรีบพาไปพบแพทย์
2. ระยะวิกฤติ
เป็นระยะที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร ร่างกายขาดน้ำ ตัวเย็น เหงื่อออก บางรายอาจมีอาการเพ้อ กระสับกระส่าย รวมถึงความดันลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่จะมีอาการในระยะวิกฤติ แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเกิดอาการช็อก ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยจะอยู่ในการดูแลของแพทย์แล้ว
3. ระยะพักฟื้น
ในระยะนี้ จำเป็นต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้ออีกประมาณ 5 วัน แม้ว่าอาการจะดีขึ้นจนแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ผู้ป่วยยังมีเชื้อไวรัสอยู่ในเลือด ที่สำคัญคือต้องระวังไม่ให้ถูกยุงกัดจนรับเชื้อเข้าไปอีก
• การรักษาและป้องกันไข้เลือดออกต้องทำอย่างไร
ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง จึงต้องรักษาตามอาการ หากมีไข้ ให้เริ่มด้วยการเช็ดตัวเพื่อลดไข้ และตามที่บอกไปแล้วว่าหากมีไข้สูงต่อเนื่องเกิน 48 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์ และควรให้อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะไข้เลือดออกเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตรายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการป้องกัน ทำได้ดังนี้
1. จัดบ้านให้มีอากาศถ่ายเท ไม่มีมุมอับที่อาจเป็นจุดรวมตัวของยุง
2. เปลี่ยนน้ำในภาชนะต่าง ๆ ทุก 7 วัน (เช่นแจกัน) หากเปลี่ยนน้ำไม่ได้ (เช่นอ่างบัวหรือพืชน้ำชนิดอื่น) ให้เลี้ยงปลาในอ่างนั้นเพื่อช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย หากมีภาชนะเก็บน้ำ ให้จัดการปิดให้เรียบร้อย
3. ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว และมีอายุ 9-45 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำจนป่วยหนัก โดยต้องฉีดจำนวนสามเข็ม
แม้ว่าโรคไข้เลือดออกจะร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ และยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่คุณสามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้มาแล้ว รวมถึงป้องกันยุงลายที่เป็นพาหะ ซึ่งหากป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวอย่างดี โอกาสเจ็บป่วยก็จะยิ่งน้อยลง และถ้ารักษาอย่างทันท่วงที ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มาก