แม้ว่าอาหารจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมองของทารก แต่ไม่ได้
หมายความว่าอาหารทุกชนิดจะเหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งอาหารบางอย่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ มีดังนี้
- เนื้อดิบ ไม่ว่าจะเป็นไก่ หมู เนื้อ หรือปลาทะเลน้ำลึก ล้วนมีโอกาสในการปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นอันตราย เช่น E. coli, Salmonella และ Listeria ได้ ซึ่งการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกและมีเชื้อแบคทีเรียเจือปน จะทำให้อาหารเป็นพิษและสามารถผ่านจากรกไปสู่ทารกในครรภ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายหลายประการ เช่น การแท้งบุตรหรือการคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
- ไข่ดิบ แม้ว่าไข่ดิบที่คุณแม่ตั้งครรภ์เลือกรับประทานจะเป็นแบบที่สามารถรับประทานแบบดิบได้ก็ตาม แต่ก็ไม่เหมาะต่อการรับประทานในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะมีโอกาสที่จะปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอย่างซัลโมเนลลาได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนผสม เช่น มายองเนสโฮมเมด ซอสฮอลแลนเดสและน้ำสลัดซีซาร์ เป็นต้น
- ปลาดิบ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยากฉลองให้กับตัวเองด้วยอาหารญี่ปุ่นอย่าง ซูชิ ซาซิมิ เซวิเช่และหอยนางรมดิบควรต้องหยุดพักก่อน เนื่องจากอาหารที่ปรุงไม่สุกย่อมมีโอกาสต่อการปนเปื้อนแบคทีเรียและปรสิตที่เป็นอันตรายได้ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตเหล่านี้จะทำให้อาหารเป็นพิษและอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงสำหรับลูกน้อยในครรภ์ได้
- ปลาที่มีสารปรอทสูง แม้ว่าจะเป็นปลาทะเลน้ำลึก แต่ปลาบางชนิด เช่น ปลาฉลาม ปลากระโทงดาบ ปลาคิงแมคเคอเรล และปลาไทล์ฟิช เป็นปลามีสารปรอทในปริมาณสูง ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกน้อยในครรภ์ ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาประเภทนี้ในระหว่างตั้งครรภ์หรือจำกัดการบริโภคให้ไม่เกิน 200 กรัม ต่อสัปดาห์
- ผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ คุณแม่ตั้งครรภ์สายออแกนิกควรงดดื่มน้ำนมดิบ ชีสที่ทำจากน้ำนมดิบ หรือผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ไปก่อน เพราะสามารถปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอย่างเชื้อลิสทีเรียที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงอย่างการเสียชีวิตของทารกในครรภ์หรือการเสียชีวิตขณะคลอดได้
- คาเฟอีน ในปัจจุบันมีคุณแม่ที่เป็น Working women และหลายคนติดคาเฟอีนอย่างหนัก ซึ่งการที่ร่างกายได้รับปริมาณคาเฟอีนมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถส่งผลให้เกิดโอกาสแท้งบุตรและน้ำหนักแรกเกิดต่ำเพิ่มมากขึ้น
- แอลกอฮอล์ คุณแม่นักดื่มหลายคนคิดว่าลูกในครรภ์จะไม่ได้รับแอลกอฮอล์ หรือได้รับในปริมาณน้อย เพราะเข้าใจว่า กว่าสารอาหารจะไปถึงทารกในครรภ์ต้องมีกระบวนการทางด้านร่างกายในการดูดซึมเอาแต่สารอาหารที่มีประโยชน์ จากข้อมูลที่การศึกษาพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์สร้างผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น การเจริญเติบโตบกพร่อง น้ำหนักแรกเกิดรวมถึงอัตราการเพิ่มน้ำหนักหลังเกิดมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ศีรษะเล็ก เกิดความผิดปกติของโครงสร้างสมองและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้น
- สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คุณแม่ตั้งครรภ์ที่กลัวว่าร่างกายจะได้รับน้ำตาลมากเกินความจำเป็นและเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแทน สามารถก่อให้เกิดการตกค้างในเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์ได้
การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการของคุณแม่ตั้งครรภ์จะช่วยให้ร่างกายและสมองของลูกน้อยเกิดการพัฒนาการที่ดี หากไม่ต้องการให้ทารกเกิดอันตรายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ควรหลีกเลี่ยง 8 อาหารคนท้องสุดอันตรายที่ทำให้ลูกเสี่ยงพิการที่แนะนำเอาไว้ในบทความนี้