วิธีลดโอกาสเกิด ไขมันพอกตับ

วิธีลดโอกาสเกิด ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ” เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุของโรคอ้วนลงพุง ขาดการออกกำลังกาย

ดื่มสุราเรื้อรัง และการกินยาบางชนิด ทำให้เกิดโรคตับแข็งและอาจเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้ ที่จริงแล้ววิธีการป้องกันนั้นไม่ยากเลย

รู้จักภาวะไขมันพอกตับ

ตับเป็นอวัยวะขนาดใหญ่อยู่ในช่องท้องบริเวณด้านบนขวาใต้ซี่โครง ถือว่ามีความสำคัญต่อกระบวนการทำงานในร่างกาย ช่วยในการเผาผลาญอาหาร เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นน้ำตาล และเปลี่ยนไขมันให้เป็นพลังงาน ทำลายสารพิษต่าง ๆ ตลอดจนสังเคราะห์โปรตีน และทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น

ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่รับประทานไปใช้ได้หมด จึงเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ในตับเป็นจำนวนมาก เกิดการสะสมขึ้นที่ตับจนเกิดโรคหรือภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ กินอาหารมัน อาหารหวาน หรืออาหารคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป

สัญญาณอันตรายเบื้องต้น

โรคไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบที่คุณอาจไม่รู้ตัว ในระยะแรกจะมีอาการทั่วไป ไม่ได้โดดเด่นจนไหวตัวทัน แต่ถ้าสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังแล้ว

  • เหนื่อยง่ายและอ่อนเพลียอย่างไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากตับทำงานไม่ปกติจนไม่สามารถแปลงสารอาหารเป็นพลังงานให้ร่างกายได้อย่างเต็มที่
  • เบื่ออาหาร มีอาการคลื่นไส้ น้ำหนักลด ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติ จนเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างเต็มที่
  • อาการท้องอืด แน่นท้อง เกิดจากตับทำงานได้ไม่ดี ระบบย่อยอาหารไม่เป็นปกติ
  • นอนไม่หลับ เพราะตับหลั่งระดับเมลาโทนินลดลง ส่งผลเสียทำให้หลับไม่สนิทและตื่นบ่อยในเวลากลางคืน
  • อาการเจ็บตึง ๆ บริเวณชายโครงด้านขวา เกิดจากตับอักเสบหรือบวมขึ้น
  • อาการคันยุบยิบตามผิวหนัง เนื่องจากน้ำดีคั่งในตับ

ป้องกันด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน

สิ่งสำคัญในการรักษาโรคไขมันพอกตับคือการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักให้เหมาะสมอยู่เสมอ

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย ชีส กะทิ ไข่แดง หรืออาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์
  • ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด และอาหารแปรรูปที่มีส่วนประกอบของไขมันสัตว์ เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เลือกกินไขมันดีประเภทกรดไขมันโอเมกา 3 ที่พบในปลา
  • กินอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้ ธัญพืช เพื่อช่วยดักจับไขมันและขับออกจากร่างกายก่อนถูกดูดซึม แต่ไม่ควรงดมื้ออาหาร หรือรับประทานผลไม้มากเกินไป เพราะจะเกิดการสะสมน้ำตาลเป็นไขมันในตับมากเกินปกติ
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับ
  • ลดหรือเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

ไขมันพอกตับ มีการดำเนินโรคเป็น 4 ระยะ 

ระยะที่ 1 พบการสะสมของไขมันในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีอาการใด ๆ

ระยะที่ 2 มีการอักเสบของตับ และเซลล์ตับถูกทำลายบางส่วน หากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็น

ระยะที่ 3 เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังและเกิดพังผืดสะสมภายใน 6 เดือน

ระยะที่ 4 เกิดภาวะตับแข็ง ตับเสื่อมสมรรถภาพ มีโอกาสพัฒนากลายเป็นมะเร็งตับในอนาคต

ความเสี่ยงของภาวะไขมันพอกตับ อาจพิจารณาได้จาก

  • รอบเอว ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว และผู้หญิงมีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว อาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะไขมันพอกตับได้
  • น้ำตาลในเลือด สูงมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไขมันชนิดดีหรือ HDL cholesterol ต่ำ โดยปกติแล้วผู้ชายควรมีค่า HDL cholesterol มากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
  • ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นให้มีไขมันพอกตับมากขึ้น

หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่าภาวะไขมันพอกตับอันตรายแค่ไหน เพราะตับทำงานผิดปกติแต่ไม่เกิดความเจ็บปวดและโดยมากไม่รู้ตัวเลย โรคนี้จึงน่ากลัวกว่าที่คิดและอาจลุกลามกลายเป็นภาวะตับแข็งหรือโรคมะเร็งตับได้ รู้แล้วเช็กว่าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่และปฏิบัติตามวิธีป้องกันอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคชนิดนี้