โรคเกลื้อน คือโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแต่กลับสร้างความหงุดหงิดใจแก่ผู้ที่เป็น อีกทั้งยังส่งผลต่อบุคลิก เพราะผู้เป็นโรคเกลื้อนมักมี
อาการคันทั้งในและนอกร่มผ้า แม้มีเสื้อผ้าปกปิดร่างกายแต่ถึงอย่างนั้นก็อาจมองเห็นรอยเกลื้อนบางส่วนที่พ้นเสื้อผ้าออกมา โดยเกลื้อนเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักมีอาการเรื้อรัง มีอาการคันบริเวณผิวหนัง เช่น ใบหน้า แผ่นหลัง หน้าอก แม้อาการไม่รุนแรงแต่กลับสร้างความกวนใจแก่ผู้เป็นที่เป็นโรคเกลื้อนที่มักมีอาการคันอยู่เป็นระยะ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อน
โรคผิวหนังชนิดนี้เกิดจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia Furfur) ซึ่งเป็นเชื้อราที่มักแฝงตัวอยู่บนผิวหนังมนุษย์ โดยเชื้อราประเภทนี้จะกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเกลื้อนก็ต่อเมื่อมีปัจจัยอื่นมากระตุ้น เช่น เหงื่อ ความอับชื้น เพราะฉะนั้นเกลื้อนจึงพบมากในกลุ่มคนที่มีเหงื่อออกมากหรือผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าอับชื้น นอกจากนี้ยังเกิดได้จากกลุ่มผู้ใช้ยาสเตียรอยด์และโรคเรื้อรังอื่น ๆ
วิธีรักษาโรคเกลื้อน
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเกลื้อนแพทย์จะเริ่มต้นการรักษาด้วยการใช้แสงอัลตราไวโอเล็ตส่องไปยังบริเวณผิวหนัง ซึ่งหากพบว่าผิวบริเวณนั้นเรืองแสงนั่นแสดงให้เห็นว่าผิวบริเวณดังกล่าวเป็นเกลื้อน บางครั้งแพทย์จะใช้วิธีรักษาด้วยการเก็บตัวอย่างเชื้อรา ก่อนแนะนำวิธีการรักษาขั้นต่อไป
วิธีสุดคลาสสิกสำหรับคนที่พบว่าตนเองเป็นโรคเกลื้อนคือการใช้แชมพูขจัดเชื้อรา เพราะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยตัวยาต้องมีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือส่วนผสมของซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อรา เพียงทาไว้บริเวณผิวส่วนที่เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วค่อยล้างออก อาการเกลื้อนจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่หากพบว่ามีอาการแสบร้อนแนะนำให้รีบพบแพทย์
นอกจากแชมพูขจัดเชื้อราแบบล้างออกแล้วยังมีอีกหนึ่งตัวเลือกคือครีมกำจัดเชื้อราแบบไม่ต้องล้างออก วิธีใช้คือทาบริเวณผิวหนังที่เป็นเกลื้อนวันละ 2 ครั้ง เมื่อทาติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ อาการคันจะค่อย ๆ ลดลงและรอยเกลื้อนจะค่อย ๆ ดีขึ้น
สำหรับบางรายที่มีอาการรุนแรง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อยครั้ง หรือผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการทายาได้ แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการทานยาร่วมกับการทายา เพื่อป้องกันการเกิดเกลื้อนซ้ำ เช่น ตัวยาที่มีส่วนผสมของ ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) และไอทราโคนาโซล (Itraconazole) โดยต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์อาการจึงจะค่อย ๆ ดีขึ้นและมีโอกาสหายขาดในที่สุด
แม้ว่าโรคเกลื้อนจะมีวิธีรักษาให้หายได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกครั้งโดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนชื้น เพราะฉะนั้นหากต้องการหลีกเลี่ยงโรคนี้ แนะนำว่าต้องรักษาความสะอาดของร่างกายทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หรือควรทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังออกกำลังกายหรือเมื่อเผชิญสภาพอากาศร้อนจัด ไม่สวมใส่เสื้อผ้ารัดแน่นจนเกินไป เลือกเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าระบายอากาศดีเพื่อลดความชื้นและเพื่อไม่ให้เสื้อผ้าอุ้มน้ำ เมื่อซักผ้าแล้วควรผึ่งให้แห้งสนิท ที่สำคัญสำหรับใครที่ชอบใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมันควรเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวช่วงอากาศร้อนจัด