ผู้หญิงสามารถเป็นโรคเก๊าท์ได้หรือไม่

ผู้หญิงสามารถเป็นโรคเก๊าท์ได้หรือไม่

คนที่หาหมอด้วยโรคเก๊าท์ส่วนมากมักจะเป็นผู้ชายวัยกลางคน ขณะที่ผู้หญิงจะไม่ค่อยมีปัญหากับโรคเก๊าท์มากนัก แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ ผู้หญิงที่หมด

ประจำเดือนแล้วไม่ควรประมาท หากไม่ระมัดระวังและขาดการดูแลสุขภาพที่ดี เก๊าท์เป็นโรคที่เกิดกับผู้หญิงได้เมื่อเวลามาถึง อาจเป็น 5 ปีขึ้นไปหลังจากหมดประจำเดือน

ทำไมผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจึงเป็นโรคเก๊าท์ได้

โรคเก๊าท์เกิดกับใครก็ได้ ไม่มีเงื่อนไขเรื่องวัยและเพศ การเกิดของโรคเก๊าท์เป็นเรื่องของภาวะกรดยูริกในเลือดที่สูงเกินปกติ กรดยูริกจึงไปคั่งอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่ข้อและกระดูก ดังจะเห็นว่าผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่มีอาการปวดตามข้อ ไม่เพียงเท่านั้น ยูริกส่วนเกินยังไปคั่งอยู่ที่ใต้ผิวหนังได้ด้วย ที่แย่ที่สุดคือไปตกตะกอนที่ผนังหลอดเลือดและไต อวัยวะสำคัญของร่างกาย ทำให้เป็นนิ่วในไตซึ่งเป็นอันตรายมาก 

สำหรับคำถามที่ว่าทำไมผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจึงเป็นโรคเก๊าท์นั้น เหตุผลก็คือเมื่อประจำเดือนหมด ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงก็จะหดหายไป เอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่ช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกายอย่างสมดุล เมื่อผู้หญิงไม่มีตัวช่วยนี้อยู่ในระบบร่างกาย กรดยูริกจึงมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้ ถ้าไม่ดูแลสุขภาพ

เมื่อเริ่มปวดข้อ สังเกตตัวเองและรับมือให้ทัน

อาการที่เด่นชัดมากของโรคเก๊าท์คือปวดข้อ เมื่อเริ่มปวด ลองสังเกตเพิ่มเติมว่าลักษณะของอาการปวดเป็นแบบนี้หรือไม่ 

  • ปวดโดยไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้า จู่ ๆ ก็ปวดขึ้นมา
  • ปวดต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมง โดยในช่วงแรกจะปวดมาก เมื่อผ่านไปประมาณ 1 วันอาการจะเริ่มลดลงและค่อย ๆ หายไปในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
  • ปวดเพียงจุดเดียว แต่ถ้าปล่อยไว้นาน อาจปวดหลายจุด โรคเก๊าท์ที่ไม่ได้รับการรักษาจะเพิ่มความปวดขึ้นไปเรื่อย ๆ จะปวดนานและรุนแรงขึ้น

กันไว้อย่าให้กรดยูริกสูง ควรหาตัวช่วยเพิ่ม

โรคเก๊าท์เกิดได้ง่ายถ้าไม่ใส่ใจเรื่องอาหาร ควรระวังอาหารที่มีสารกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินปกติ สารตัวนี้ชื่อว่าพิวรีน เป็นสารที่มีอยู่ในอาหารหลายชนิด ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะเลี่ยงอาหารพิวรีนสูง ก็จะช่วยให้กรดยูริกไม่เพิ่มขึ้นจนมากเกินไป 

ใครที่ยังไม่เป็นโรคเก๊าท์ กันไว้ก่อนด้วยการลดรายการอาหารเหล่านี้ลงให้เหลือน้อยที่สุด (ถ้าเป็นเก๊าท์แล้วห้ามเลย) แม้เป็นของโปรดของใครหลายคนก็ตาม

  1. เครื่องในสัตว์
  2. เนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารไขมันสูง
  3. สัตว์ปีก
  4. ยอดผักใบเขียว เช่น ยอดผักหวาน ยอดมะระ ยอดผักกระเฉด
  5. ผักบางชนิด อย่างผักโขม ดอกกะหล่ำ
  6. เห็ดต่าง ๆ และหน่อไม้
  7. ธัญพืชทั้งหลาย เช่น ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน 
  8. อาหารทะเล กุ้ง หอย ปู
  9. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ปรับไลฟ์สไตล์บางอย่าง เพื่ออยู่ห่างจากโรคเก๊าท์

  • ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง บางครั้งความเร่งรีบอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับอวัยวะ กระดูกและข้อ
  • ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว 
  • รับประทานให้ครบ 5 หมู่ หากไม่ได้ก็ขอให้ใกล้เคียง
  • ปาร์ตี้น้อยลง แอลกอฮอล์จัดอยู่ในลิสต์ของตัวการสำคัญของเก๊าท์ 

ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย อาการปวดข้อเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ในระยะยาวเก๊าท์คือโรคร้ายชนิดหนึ่งที่อาจทำให้คนเราถึงกับทุพพลภาพได้ รวมทั้งโรคอื่นที่จะตามมา ทั้งนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ไตอักเสบและอาจถึงขั้นภาวะไตวายในที่สุด