ตุ่มหนานูนที่มักจะเกิดขึ้นบริเวณเท้าซึ่งให้ความรู้สึกเจ็บขณะเดินหรือสวมรองเท้า คนทั่วไปเรียกว่าเป็น “ตาปลา” ถือเป็นปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิต
ประจำวันเป็นอย่างมาก แม้จะไม่มีอันตรายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่มีโอกาสเกิดตาปลาได้มากก็คือ กลุ่มผู้สูงวัย
รู้จักสาเหตุของ “ตาปลา”
ตาปลา คือ ก้อนผิวหนังที่โดนเสียดสีหรือกดทับเป็นเวลาต่อเนื่องและยาวนาน มักเกิดบริเวณเท้าและฝ่าเท้า เนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนที่รับน้ำหนักของร่างกาย การเสียดสีของผิวหนังลักษณะดังกล่าวทำให้หนังกำพร้าแยกออกเป็นตุ่มพอง ๆ และหากมีการเสียดสีอย่างต่อเนื่องยาวนาน หนังกำพร้าก็จะสร้างหนังขี้ไคลหนา มีลักษณะแข็ง ๆ เป็นก้อนแหลม ๆ คล้ายลิ่ม และกลายเป็นตาปลาในที่สุด
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลานี้มีทั้งที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายและเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย กรณีที่เกิดจากตัวของผู้ป่วยเองนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสวมใส่รองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้า มีลักษณะคับหรือหลวมมากเกินไป การสวมรองเท้าส้นสูง การเดินลงน้ำหนักอย่างไม่เหมาะสม และไม่ชอบสวมใส่รองเท้าเดิน บางครั้งตาปลาก็สามารถเกิดขึ้นบริเวณมือหรือนิ้วมือได้เช่นกัน จากสาเหตุการใช้มือทำงานบางอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การร้อยพวงมาลัยหรือจับดินสอปากกาเขียนหนังสือนาน ๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อบริเวณผิวหนังถูกกดทับหรือเสียดสีต่อเนื่องเป็นเวลานานร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็ง ๆ มารองรับในบริเวณที่ถูกเสียดสีหรือถูกกดทับนั่นเอง แต่บางครั้งตาปลาก็มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ เท้าผิดรูป การมีกระดูกนูนหรือยื่นออกมา เช่น กรณีเป็นโรคข้อรูมาตอยด์เป็นต้น
ประเภทของตาปลา
ตามข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ตาปลามีหลายประเภท แต่ที่พบได้บ่อยนั้นมี 2 ประเภทหลัก ได้แก่
ตาปลารักษาอย่างไร
เราสามารถจัดการกับตาปลาได้ด้วยตนเอง โดยการแช่เท้าในน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนประมาณ 10 นาที จนตุ่มตาปลานิ่มลง นำหินขัดเท้า ตะไบ หรือแปรงขัดเท้ามาขัดบริเวณที่เป็นตาปลา จากนั้นเช็ดให้แห้งแล้วทาโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นโดยต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าตาปลาจะหายไป บางคนอาจใช้วิธีทายาเพื่อลอกผิวหนังกำพร้าบริเวณที่เป็นตาปลาออกก็ได้ แต่หากเป็นมากสามารถพบแพทย์เพื่อขอรับการทำหัตถการ (ผ่าตัด) ผิวหนังที่หนาออกได้
สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือการป้องกันไม่ให้เป็นตาปลาซ้ำ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีง่าย ๆ คือการ เลือกใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดีกับฝ่าเท้า ไม่คับหรือหลวมเกินไป เลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าหัวแหลมที่จะรัดการเรียงตัวของกระดูกทำให้เกิดการเสียดสีได้มากยิ่งขึ้น นำฟองน้ำหรือแผ่นรองรองเท้ามาใส่ภายในรองเท้าเพื่อลดการเสียดสีกับผิวหนังและเลือกใช้รองเท้าที่มีการออกแบบเป็นพิเศษหากมีปัญหาเท้าผิดรูป