มะเร็งที่เกิดในผู้หญิงมักจะพบมะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในอันดับต้น ๆ เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทั่วโลก ส่วนประเทศไทยนั้นมะเร็งปากมดลูกจะพบได้บ่อย
รองลงมาจากมะเร็งเต้านม สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา (Human Papillomavirus หรือ HPV) ซึ่งติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสกับผู้ที่เป็นพาหะของ HPV
เชื้อ HPV จะติดต่อผ่านบาดแผลเล็ก ๆ หรือรอยถลอกบริเวณต่อไปนี้
- เยื่อบุผิวปากมดลูก
- เยื่อบุผิวช่องคลอด
- ปากช่องคลอด
- ปลายองคชาติ
- รอบบริเวณทวารหนัก
การติดเชื้อ HPV จะไม่แสดงอาการหรือทำให้เจ็บปวดผู้ติดเชื้อจึงไม่รู้สึกตัวว่าติดเชื้อแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อหากมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงจะสามารถหายเองได้ภายใน 2 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปได้มากว่าผู้หญิงหลายคนอาจเคยติดเชื้อ HPV และหายได้เองโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากไม่มีอาการของโรค แต่ในบางรายเชื้อ HPV จะฝังตัวแน่น โดยใช้เวลา 5 – 15 ปี เพื่อทำให้เซลล์ปากมดลูกเกิดความผิดปกติส่งผลให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
การดูแลร่างกายให้แข็งแรงจะสร้างภูมิต้านทานที่สามารถช่วยให้ห่างไกลจาก HPV ได้ดังนี้
- รับประทานอาหารให้เพียงพอและครบหมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน เมื่อร่างกายแข็งแรงภูมิต้านทานก็จะดีขึ้นด้วย
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยการนอนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
- หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการสูดควันบุหรี่ เนื่องจากทำให้ภูมิคุ้มกันน้อยลง
วิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่นอกเหนือจากการทำร่างกายให้แข็งแรงมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร การเปลี่ยนคู่นอน
- ป้องกันการติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 – 45 ปี วัคซีนจะเน้นการป้องกันเชื้อ HPV 2 สายพันธุ์หลักที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นจึงต้องมีการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีอยู่ด้วยกันถึง 15 สายพันธุ์
- ป้องกันด้วยการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ เป็นการตรวจหาสิ่งผิดปกติก่อนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาวิธีการรักษา มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมี 3 วิธีด้วยกัน
- แปปสเมียร์ คือการป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์ไปตรวจหาความผิดปกติ
- HPV Test หรือ HPV DNA เป็นการตรวจหา DNA ของเชื้อไวรัส ซึ่งจะสามารถระบุกลุ่มของเชื้อและสายพันธุ์ได้ทันที
- การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ
- พบแพทย์เมื่อพบสิ่งผิดปกติหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อรักษาและติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ใช้เวลาในการเกิดโรคช้า คนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้คือคนที่ไม่ตรวจเป็นเวลานาน หรือเคยมาตรวจแล้วไม่มาฟังผล หรือทราบผลตรวจแล้วว่าผิดปกติแต่ไม่มีอาการจึงไม่รับการรักษา หรือตรวจแค่ครั้งเดียวได้ผลปกติก็คิดว่าชีวิตนี้ไม่ต้องตรวจแล้ว
มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้และรักษาให้หายได้ด้วยการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์เมื่อพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีความผิดปกติ