ผักห้ามทานดิบ

ผักห้ามทานดิบ

ผักจัดเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย ซึ่งผักแต่ละชนิดก็จะมีแร่ธาตุและวิตามินที่

แตกต่างกันตามแต่ละชนิดของผักนั้น ๆ การนำผักไปรับประทานหรือใช้ประกอบอาหารจำเป็นที่จะต้องได้รับวิธีการปรุงและการรับประทานที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่สำคัญได้อย่างครบถ้วนหรือสูญเสียให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตามแม้ผักจะมีคุณประโยชน์มากแต่ใช่ว่าผักทุกชนิดจะสามารถกินแบบดิบได้เสมอไป ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและครอบครัว ควรจะต้องศึกษาและวิธีการกินผักอย่างถูกวิธี 

รวมผักห้ามทานดิบ 

  1. กะหล่ำปลี

กะหล่ำปลี เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นหัว นิยมนำใบมารับประทาน มีด้วยกันหลายสายพันธุ์แต่นิยมนำมารับประทานมีเพียงสีเขียวกับสีม่วง นิยมปลูกในฤดูหนาว อุดมไปด้วยวิตามินนานาชนิด เช่น วิตามินเอ, บี1, บี2, บี6 และวิตามินเค นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุโพแทสเซียม, ฟอสฟอรัส, เหล็ก, ไฟเบอร์ และโฟเลตร่วมอยู่ด้วย จากประกาศของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า กะหล่ำปลี ไม่ควรนำมาทานแบบดิบ เพราะมีสารออกซาเลตที่ก่อให้เกิดโรคนิ่วและสารกอยโตรเจน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคอพอกและต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง

  1. หน่อไม้

หน่อไม้สดมีสารไซยาไนด์ผสมอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ หากได้รับเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในอดีตเคยมีคนไทยเสียชีวิตจากการกินหน่อไม้สดและหน่อไม้ดองมาแล้ว เพราะไม่นำมาต้มซ้ำก่อนนำมารับประทาน เพราะพิษของหน่อไม้สลายได้ด้วยวิธีการต้มด้วยน้ำเดือดจัดอย่างน้อย 10 นาที เป็นต้นไป จึงจะสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ซึ่งสารยาไนด์ในหน่อไม้สดแล้วยังมีสารพิษที่ชื่อว่า คลอสตริเดียม โบทูลินัม(Clostridium Botulinum) ในหน่อไม้ดอง หากต้องนำมาบริโภคจะต้องต้มซ้ำอีกครั้ง เพื่อความปลอดภัย

  1. ถั่วงอก

หากระบุถึงที่มาและการผลิตที่ปลอดภัยได้ ถั่วงอกอาจจะสามารถบริโภคดิบในปริมาณน้อย ๆ ได้ ถ้าไม่มั่นใจถึงแหล่งที่มาของการผลิต แนะนำให้นำไปลวกหรือต้มสุกก่อนกินทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อราและโซเดียมซัลไฟต์หรือสารฟอกขาว ที่สะสมอยู่ในถั่วงอก โดยเฉพาะคนที่แพ้สารดังกล่าว หากรับเข้าไปในปริมาณมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หายใจติดขัด ความดันต่ำและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัยควรทำให้สุกทุกครั้ง

  1. ผักโขม

เป็นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน เพราะผักโขมดิบมีปริมาณของสารออกซาลิกในปริมาณมาก หากบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้และไปขัดขวางการดูดของแคลเซียมในร่างกายและเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคนิ่ว เพื่อความปลอดภัย ควรปรุงให้สุกเสียก่อนที่จะนำมาบริโภค สารพิษต่าง ๆ จะได้สลายหายไป

  1. หัวมันสำปะหลัง

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีปลูกได้เกือบทั่วทุกภาคในประเทศไทยและมีหลายสายพันธุ์ มีทั้งบริโภคได้และบริโภคไม่ได้ เพราะตั้งแต่ใบไปจนถึงรากหรือหัวมันสำปะหลังมีสารไฮโดรไซยานิกสะสมอยู่ โดยเฉพาะหัวมันจะมีปริมาณมากที่สุด จึงไม่ควรนำหัวมันมารับประทานสด ต่อให้เป็นสารพันธุ์ที่รับประทานก็ควรนำไปกำจัดสารพิษเสียก่อน ส่วนใหญ่จะปอกเปลือกและนำไปแช่น้ำ จากนั้นค่อยน้ำไปปรุงสุกด้วยความร้อนสูง สารพิษดังกล่าวจึงจะสลายหายไปได้ หากนำใบไปเป็นอาหารสัตว์จะต้องผ่านกรรมวิธีการสับแล้วนำไปตากแดด เพื่อสลายสารพิษหรือนำไปหมักด้วยวิธีการที่ถูกต้อง จึงจะสามารถนำไปให้สัตว์เลี้ยงกินได้ เพราะหากกินใบสดในปริมาณมากก็อาจทำให้สัตว์เลี้ยงตายได้

  1. ถั่วฝักยาว

เป็นพืชที่คนไทยนิยมรับประทานสดมากที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่าถั่วฝักยาวมีสารที่ชื่อว่าไกลโคโปรตีนและเลคตินที่สูงมาก หากกินเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการแพ้ คลื่นไส้และท้องเสียได้ ดังนั้น ควรนำไปปรุงสุกด้วยการต้ม นึ่ง เสียก่อนเพื่อความปลอดภัย นอกจากสารที่มีในธรรมชาติของถั่วฝักยาวแล้ว ยังมีในส่วนของยาฆ่าแมลง สารพิษต่าง ๆ สะสมอยู่ในบนพื้นผิวของถั่วฝักยาว ซึ่งจะต้องผ่านการล้างน้ำให้สะอาดหรือการแช่ด้วยด่างทับทิมก่อนทุกครั้งที่จะนำไปปรุงให้สุก

  1. กะหล่ำดอก-บรอกโคลี

กะหล่ำดอก บรอกโคลีจัดเป็นพืชหัวชนิดเดียวกัน ที่จะต้องนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน ไม่ควรกินแบบดิบ ๆ เพราะภายในของดอกกะหล่ำและบรอกโคลีจะมีน้ำตาลชนิดหนึ่งที่มีผลต่อระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ ทำให้ท้องอืด แน่นท้องได้ เพื่อความปลอดภัยจึงควรนำไปปรุงให้สุกเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ได้รับสารพิษที่เป็นโทษต่อร่างกายเข้าไป

นอกจากพืชผักทั้ง 7 ชนิดที่ไม่นิยมนำมาบริโภคสด พืชผักอื่น ๆ ก็ควรผ่านการล้างและทำความสะอาดให้ดี เพราะต่อให้ผักเหล่านั้นไม่มีพิษจากธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นการปลูกด้วยน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเองแล้ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความเสี่ยงจากสารกำจัดศัตรูพืชทั้งยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หากรับเข้าไปโดยตรงในปริมาณมากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ การทานผักดิบแบบเดิม ๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าคุณประโยชน์ที่จะได้รับก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรนำผักต่าง ๆ ไปปรุงให้สุกเสียก่อน